โบรกเกอร์เปิดโผหุ้นรับข่าวดี ศบศ. ออกมาตรการกระตุ้น ศก.ชุดใหม่ ทั้งปรับเกณฑ์เราเที่ยวด้วยกัน แจกเงินใช้จ่าย 3,000 บาท อีก 15 ล้านคน และเร่งจ้างงานใหม่ 2.6 แสนอัตรา ระบุกลุ่มโรงแรม การบิน ค้าปลีกติดโผเพียบ เชียร์ CRC CPALL BJC
บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในบทวิเคราะห์รายวัน ว่า การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ออก 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ทั้งปรับเกณฑ์ "เราเที่ยวด้วยกัน" ให้มีสิทธิประโยชน์มากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ด้วยการแจกเงิน 3,000 บาท ให้ 15 ล้านคน และมาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ 2.6 แสนอัตรา
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากองค์ประกอบของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใน Q2/63 กลุ่มที่ทรุดหนักสุดคือ กลุ่มก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ลดลง 8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนลดลง 6.6% YoY แต่เพราะมีสัดส่วนมากถึง 56% ของ GDP รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคเป็นอันดับแรก
ทั้งนี้ หากอิงมาตรการชิมช้อปใช้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่ใช้กระตุ้นกำลังซื้อใน Q4/62 พบว่าไม่ได้ช่วยหนุนการบริโภคภาคเอกชนมากนัก โดยเติบโตเพียง 4.1% YoY ต่ำสุดในรอบปี (ค่าเฉลี่ยปี 62 อยู่ที่ 4.5% YoY) ขณะที่ องค์ประกอบอื่นของ GDP ยังถดถอยต่อเนื่อง ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เรามองเป็นเพียงการปรับเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ใช้สิทธิมากขึ้นเท่านั้น
ให้มุมมองเป็นกลางต่อมาตรการใหม่ ศบศ. แต่เชื่อกระตุ้นสภาพคล่องได้
ดังนั้น จึงมีมุมองเป็นกลางต่อผลกระทบกับ GDP และ SET INDEX อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายรอบนี้มีจุดดีตรงที่เป็นการร่วมจ่าย จึงน่าจะช่วยดึงเงินของผู้ที่มีเงินเหลือไปช่วยผู้ที่ขาดเงินได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นสภาพคล่องและการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่าการที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการที่ออกมาแล้วจะช่วยหนุน SET INDEX ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการทางภาษี ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยถ้าย้อนไปช่วงที่รัฐบาลมีการลงทุนสูงในปี 2553-2556 GDP โตเฉลี่ย 5% ต่อปี และ SET INDEX ปรับตัวขึ้นถึง 18% ต่อปี เทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา (58-63) ที่การลงทุนโตเฉลี่ยเพียง 1.8% ต่อปี และ SET INDEX ปรับตัวขึ้นเพียง 5% ต่อปี
กลุ่มค้าปลีกได้ประโยชน์สูงสุด เชียร์ CRC-CPALL-BJC
โดยทุกครั้งที่มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ กลุ่มที่มัก Outperform คือ ค้าปลีก อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าไอที และไฟแนนซ์ แต่เนื่องจากรอบนี้เน้นกลุ่มอาหาร+เครื่องดื่ม และผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจึงเป็นค้าปลีกที่เน้นอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหุ้นใน SET100 ที่ยัง Laggard ตลาดในช่วง 1-3 เดือน คือ MINT, CRC, CPALL, BJC, OSP ส่วนหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่น่าจับตาคือ TACC, TKN, AU, M
แต่ทั้งนี้ยังให้ติดตามปัจจัยการเมืองในประเทศที่อาจกระทบต่อความต่อเนื่องในการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในอนาคต ซึ่งจะทำให้ 8 หุ้นแนะนำข้างต้นไม่สามารถสะท้อนปัจจัยบวกที่เราคาดหวังได้อย่างเต็มที่
มาตรการ รายละเอียด หุ้นที่รับประโยชน์
กระตุ้นท่องเที่ยว เพิ่มสิทธิ "เราเที่ยวด้วยกัน"
ทั้งเพิ่มส่วนลดค่าที่พัก-คูปองอาหาร
ค่าตั๋วเครื่องบิน-เพิ่มสิทธิราชการลาพักเที่ยว MINT-ERW-CENTEL-AAV-AOT
กระตุ้นใช้จ่าย 4.5 หมื่นล้านบาท
แจกเงิน 3,000 บาท ให้ 15 ล้านสิทธิ
ใช้ได้ไม่เกิน 100-250 บาท/วัน
รัฐช่วยจ่าย 50% CRC-CPALL-BJC-OSP CPF-TACC- TKN-AU-M-RBF
จ้างงาน นศ.จบใหม่ จ้างงาน ป.ตรี - ปวส. ปวช.
จำนวน 2.6 แสนอัตรา รัฐหนุนค่าจ้าง 50% HUMAN
ที่มา บล.หยวนต้า
ดีบีเอสเชียร์กลุ่มค้าปลีก อาหาร โรงแรม รับผลบวก
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นับเป็นบวกกับกลุ่มที่เกี่ยวกับค้าปลีก อาหาร โรงแรม และสายการบิน โดยมาตรการข้างต้นจะช่วยกระตุ้นและต่อยอดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย บริโภค และท่องเที่ยวมากขึ้น หลังโมเมนตัมแผ่วลงเมื่อหมดมาตรการกระตุ้นชุดก่อน ซึ่งบริษัทจดทะเบียนกลุ่มค้าปลีก & อาหารและเครื่องดื่ม ที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการและเป็นหุ้นเด่นของเรา ได้แก่ BJC, CPALL, CPF, GFPT, OSP, TKN ส่วนกลุ่มโรงแรม หุ้นเด่นเป็น ERW สำหรับกลุ่มสายการบิน คือ AAV
เคทีบีมองมุมบวกช่าวยกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะ CPALL-TACC
บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เรามีมุมมองเป็นบวกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงิน โดยจากข่าวในครั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจเปิดโอกาสให้ใช้ใน 7-11 และห้างสรรพสินค้าด้วย นอกเหนือจากผู้ประกอบการรายย่อยที่ลงทะเบียน จึงคาดว่าจะส่งผลดีให้กลุ่มค้าปลีกในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย
โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่เน้นเกี่ยวกับการบริโภคอุปโภคในชีวิตประจำวันอย่าง CPALL (ซื้อ/เป้า 80.00 บาท) รวมถึงจะส่งผลดีต่อ supplier ของ 7-11 ด้วย คือ TACC ซึ่งให้บริการเครื่องดื่มในร้าน 7-11 แนะนำ TACC (ซื้อ/เป้า 7.00 บาท) และกลุ่มห้างสรรพสินค้าคาดว่า BJC (ถือ/เป้า 33.00 บาท) จะได้ประโยชน์จากมากกว่าห้างอื่นๆจากการใช้จ่ายผ่าน BIGC