ใคร 18+ เตรียมรับเงิน! รัฐผุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ แจกคนละ 3,000 แก่ 15 ล้านคน เพื่อใช้จับจ่ายกับหาบเร่แผงลอย ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า เริ่มตุลาคมนี้ ด้านนักวิชาการเศรษฐกิจแนะ ไอเดียน่าสนใจ แต่ต้องลงทะเบียนได้ง่ายเพื่อให้คนมีสิทธิได้เข้าถึงด้วย!
อยากได้ผล ต้องกระจายรายได้สู่รายย่อย
“ผมคิดว่ากระตุ้นได้ แต่มันขึ้นอยู่กับภาครัฐออกแบบรูปแบบเงื่อนไขอย่างไร ถ้าเกิดว่าเงื่อนไขทำออกมาไม่ดี คนเข้าไม่ถึง อย่างเล่นตัวชิม ช้อป ใช้ ที่กว่าจะลงทะเบียนกันได้ต้องนอนตี 2 ตี 3 อย่างนี้ มันไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการใช้หรือแม้กระทั่งร้านค้าต่างๆ มันหายาก มันมีร้านน้อย มีอาหารให้เลือกน้อย อย่างนี้มันก็ไม่เกิดประสิทธิภาพ ผมคิดว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไอเดียดีแล้ว ภาคปฎิบัติ เงื่อนไขต่างๆ มันต้องเอื้ออำนวยด้วยครับ”
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส และนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) กล่าวกับทีมข่าว MGR Live หลังศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) เคาะวงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
สำหรับรายละเอียดนั้น รัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกอาชีพ ซึ่งมีประมาณ 15 ล้านสิทธิ ส่วนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ ครอบคลุมหาบเร่แผงลอย ร้านสะดวกซื้อ และในห้างสรรพสินค้า ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณตุลาคมนี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กูรูเศรษฐศาสตร์มองว่า มาตรการล่าสุด จะสามารถกระตุ้นช่วยเศรษฐกิจหลังจากนี้ได้จริง น้อย และยังแนะนำว่าในอนาคตควรมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นเข้ามาเสริมอีก
[ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ]
“ผมเห็นด้วยที่ภาครัฐจะมีแพ็คเกจออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะว่าในช่วงโควิด เศรษฐกิจมันชะลอตัวลงเยอะ ก็แปลว่าภาครัฐควรจะมีน้ำยาหล่อลื่นเข้ามาช่วยทำให้มันสามารถที่จะหมุนต่อไปได้ เรื่องของการสนับสนุนการชอปปิ้ง มีการแจกเงินในลักษณะของ Copay คือภาครัฐจะออกให้ครึ่งนึง ส่วนอีกครึ่งประชาชนต้องออกเอง เป็นไอเดียที่น่าสนใจและถูกต้องตามหลักวิชาการ ภาครัฐจะทำยังไงก็ได้ให้สิทธิมันสามารถที่จะลงทะเบียนได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ผมตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะเกิดประสิทธิภาพสูงและตรงจุด คือช่วยคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ภาครัฐควรจะกำหนดให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หาบเร่แผงลอย โชวห่วยที่รายได้ตกลง ทำยังไงให้ภาครัฐสามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับธุรกิจเหล่านี้ได้ ผมถึงอยากเสนอว่าให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขดีๆ ให้มีโควตาสำหรับกลุ่มนี้เยอะหน่อย ประเด็นนี้สำคัญเพราะว่าเวลาเกิดปัญหาโควิดขึ้น ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นธุรกิจที่ดูแลตัวเองได้ในระดับนึง
(งบประมาณ 45,000 ล้านบาท) ส่วนตัวผมคิดว่าน้อย ดู GDP มันอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท เขาถูกคาดการณ์กันว่าปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวลง 7-9 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าเงินที่จะหายไประดับ 1 ล้านล้าน การที่ภาครัฐจะกระตุ้น 4.5 หมื่นล้านตอนนี้ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างน้อยเกือบแสนล้าน มันยังห่างกันอยู่พอสมควร ผมจะสนับสนุนให้ภาครัฐมีโครงการลักษณะนี้เพิ่มเติมได้จะดี อยากที่จะให้เพิ่มสเกล แต่ขอให้ตรงจุด ถ้าทำได้จะเป็นสิ่งที่ดี”
วอนอย่าละเลยกลุ่มเปราะบาง
นอกจากการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว พร้อมกันนี้ ศบศ.ยังเห็นชอบมาตรการจ้างงานสำหรับเด็กจบใหม่ คือ ในปีการศึกษา 2562 หรือปี 2563 เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 ทั้งระดับปริญญาตรี ปวส. และระดับ ปวช. รวม 260,000 อัตรา วงเงินรวม 2.3 หมื่นล้านบาท
มีอัตราค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท, ปวส.เดือนละ 11,500 บาท และปวช.เดือนละ 9,400 บาท รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้กับนายจ้างไม่เกิน 50% ของค่าจ้าง โดยมีเงื่อนไขว่า นายจ้างจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม และต้องมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เกินกว่าร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 1 ปี
“ในส่วนของการกระตุ้นที่ 2 ที่ภาครัฐพยายามกระทำคือเรื่องของการจ้างงาน จากสถิติพบว่าเดี๋ยวจะมีเด็กจบใหม่ประมาณ 400,000-500,000 คน เตรียมตัวจะเข้าตลาดแรงงาน แต่ช่วงโควิด ธุรกิจแม้กระทั่งลูกจ้างเดิม เขาก็ยังมองว่าจะลดเงินเดือนหรือไล่ออกหรือจะอยู่ได้รึเปล่า เพราะฉะนั้นเด็กจบใหม่จึงมีความเสี่ยงที่จะตกงานเยอะ ผมคิดว่าการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเช่นเดียวกับ ก็คือให้ 7,500 บาท ผมคิดว่าน่าจะมีความเหมาะสม
ส่วนสุดท้ายคือเรื่องของการท่องเที่ยว ผมก็เห็นด้วยเช่นเดียวกัน คือ ภาครัฐจะมีการอุดหนุนให้สนับสนุนคนท่องเที่ยวเพิ่ม โดยการปรับเงื่อนไขให้ข้าราชการลาหยุดได้ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าดี สอดคล้อง เพราะว่าเม็ดเงินที่หายไป มันหายไปจากภาคท่องเที่ยวเยอะ รายได้ที่เคยมาจากคนต่างชาติปีปีนึงประมาณ 30-40 ล้านคน ปีนี้น่าจะเหลือซัก 6 ล้านคน แน่นอนว่าต้องการคนไทยที่พอมีฐานะที่จะเข้าไปช่วยเติมเต็ม ซึ่งตรงนี้ถ้าออกมากระตุ้นได้ก็ดี
โจทย์สำคัญทั้งตัวนี้และตัวแรก น่าจะอยู่ที่ว่าทำยังไงให้สามารถใช้ได้อย่างง่าย แล้วมีกลไกการตรวจสอบ ถ้ามีการโกงกินอะไรต่างๆ นานา เราค่อยมาจับเทียบปรับกัน ปรับลดเงื่อนไขแต่ไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงด้วย อันนี้จะดี มันจะทำให้มีร้านค้าเยอะ มีทางเลือกเยอะ”
เมื่อถามถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแจกเงินที่ผ่านมาว่าเห็นผลยังไง นักวิชาการอาวุโสก็ให้คำตอบว่า แม้จะประสบความสำเร็จไปเพียงส่วนหนึ่งแต่ก็ยังขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นอาจจะไม่เอื้อให้ประชาชนเข้าถึง พร้อมเสนอให้เพิ่มความดูแลต่อกลุ่มเปราะบางให้มากขึ้น
“ถ้าไปตามดูอย่างตัวล่าสุด “เราเที่ยวด้วยกัน” ภาครัฐวางเป้าหมายว่าจะมีคนจองทั้งหมดประมาณ 5 ล้าน ก็ออกมาที่ตอนนี้โครงการยังไม่สิ้นสุด น่าจะได้ซัก 800,000 ห้องแล้ว ซักประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย ก็ยังมีเวลา แต่เราก็ประมาณการณ์ว่าเต็มที่น่าจะได้เพิ่มมาอีก 20-40 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย ก็จะกระตุ้นได้หลักประมาณหมื่นล้าน
ผมมองว่ามันประสบความสำเร็จ แต่มันยังขาดประสิทธิภาพ ตัวโครงสร้าง ตัวไอเดียในเรื่องของนโยบายผมว่าดีแล้ว แต่ทำยังไงให้เราสามารถปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้มันเอื้ออำนวยให้คนไปเที่ยวได้มากขึ้นด้วย ภาครัฐปัจจุบันอาจจะตั้งเงื่อนไขที่ใช้งานยากเกินไป มีโรงแรมที่เข้าร่วมด้วยน้อยเกินไป มีร้านค้าที่เข้าร่วมด้วยจำกัดเมนูอาหาร
ทำให้ท้ายสุดแล้ว มันไม่สามารถกระตุ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การปรับปรุงเงื่อนไขน่าจะเป็นหัวใจสำคัญ ในการที่จะทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมันเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดครับ
ผมคิดว่าอีกตัวหนึ่งที่อยากให้เพิ่มในเงื่อนไขได้ ก็คือเรื่องของทางสังคม ผมพูดถึงธุรกิจแล้ว ธุรกิจรายเล็กได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกันถ้าเราพูดถึงประชาชน ประชาชนทุกคนก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากมักจะเป็นคนที่ยากจน เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ถ้าภาครัฐมีโควตาเฉพาะ หรือมีเงินอุดหนุนเสริมให้คนกลุ่มนี้ได้ด้วยจะดี ให้เขาไปช่วยจับจ่ายด้วย ให้เขาสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการด้วยได้ ผมคิดว่าตรงนี้จะดีมากครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **