ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index : RSI) ประจำเดือนสิงหาคม 2563
“ดัชนี RSI เดือนสิงหาคม 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นในหลายภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีแนวโน้มรายภาคการลงทุนของภาคตะวันตก และภาคบริการของ กทม. และปริมณฑล ยังชะลอตัว”
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2563 ที่เป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนี RSI เดือนสิงหาคม 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นในหลายภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีแนวโน้มรายภาคการลงทุนของภาคตะวันตก และภาคบริการของ กทม. และปริมณฑล ยังชะลอตัว”
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 61.8 แสดงถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยมีภาคเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี และอ้อยโรงงาน รวมทั้งมีนโยบายจากภาครัฐช่วยสนับสนุนฟื้นฟูการพัฒนาอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลายลง ทำให้คาดว่าประชาชนจะเริ่มมีการใช้จ่ายที่มากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 58.9 สะท้อนถึงการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เนื่องจากแนวโน้มภาคเกษตรในระยะ 6 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับความคาดหวังที่มาตรการของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 55.2 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีภาคการเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐและปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะมีมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนปรนให้กิจการกลับมาเปิดให้บริการได้ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ 54.6 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ขยายตัว โดยมีภาคเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก เนื่องจากเป็นช่วงที่พืชผลทางการเกษตรหลายชนิดออกสู่ตลาด เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชา และกาแฟ เป็นต้น รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับหลายจังหวัดในภูมิภาคมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้อยู่ที่ 52.5 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากอุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทำจากยางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลก รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่ช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของภาคใต้ รวมถึงเศรษฐกิจไทมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยอนุญาตให้จัดกิจกรรมและเปิดสถานประกอบการได้เพิ่มขึ้นภายใต้แนวทาง Social Distancing ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 52.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ตามการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประชาชนเริ่มออกมาท่องเที่ยวและใช้บริการโรงแรมและภัตตาคารมากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 45.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีภาคบริการยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร