ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) หรือ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” เพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยหุ้นกู้ฯ ที่จะเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW)* ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุนเท่านั้น พร้อมยกระดับกระบวนการขายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในหุ้นกู้ดังกล่าวเพียงพอ
ภายใต้สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยที่อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ผู้ออกตราสารหนี้หลายรายจึงเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่มีความเสี่ยงและซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไปเพื่อให้ผลตอบแทนสูงขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 พบมีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนรวม 1.19 แสนล้านบาท ขณะที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยประมาณร้อยละ 81 และผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth : HNW) ประมาณร้อยละ 6
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงมีแนวคิดจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้ลงทุนมากขึ้น และยังสามารถพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไปพร้อมกัน โดยกำหนดให้หุ้นกู้ประเภทดังกล่าวที่จะเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนรายใหญ่ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุน (investment grade) เท่านั้น ซึ่งเป็นการคัดกรองคุณภาพในเบื้องต้นว่าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีความสามารถในการชำระหนี้ระดับหนึ่ง เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีการกำหนดอายุไถ่ถอน ทำให้ผู้ลงทุนอาจต้องถือไว้นานกว่าหุ้นกู้ทั่วไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังยกระดับระบบกระบวนการขายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนอย่างเพียงพอ โดยปรับปรุงแบบลงนามรับทราบความเสี่ยงให้ชัดเจนและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงเน้นคำเตือนที่สำคัญและกำหนดให้มีการทดสอบความรู้ของผู้ลงทุนก่อนการลงทุนครั้งแรก เพื่อประเมินความเหมาะสมในการลงทุน อีกทั้งเป็นเครื่องมือให้ผู้ขายอธิบายลักษณะความเสี่ยงและผลตอบแทนต่อผู้ลงทุน และส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้ลงทุนเกี่ยวกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนผ่านช่องทางต่างๆ
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=644 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: debt@sec.or.th จนถึงวันที่ 21 กันยายน 2563