ธปท.ร่วมมือแบงก์พาณิย์-แบงก์รัฐ เปิด "โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง" แก้หนี้เอสเอ็มอีวงเงิน 50-500 ล้านบาท ที่มีเจ้าหนี้หลายราย เพื่อให้ลูกหนี้มีทางออกในการผ่อนหนี้ในระยะต่อไปไม่กลายเป็นหนี้เสีย หลัง ธปท.ยืนยันไม่ต่อเวลาพักหนี้เป็นการทั่วไปหลังครบ 6 เดือน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิด “โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” (โครงการดีอาร์บิส) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้ และให้มีกลไกในการจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่งได้อย่างบูรณาการ ซึ่งจะช่วยลดเวลาให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ผ่านแนวทางแก้ไขหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ตกลงร่วมกันในรูปแบบมาตรฐาน และการกำหนดบทบาทของเจ้าหนี้หลักในการดูแลลูกหนี้และประสานกับเจ้าหนี้อื่น ทำให้การตัดสินใจแก้ไขหนี้ทำได้รวดเร็วและเบ็ดเสร็จ ให้ธุรกิจของลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้ตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งปรับตัวให้เท่าทันกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศสามารถฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า โครงการดีอาร์บิส หรือด็อกเตอร์บิส เป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งเจ้าหนี้และลูกหนี้มาระยะหนึ่งเพื่อหาทางดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถใช้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้แก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นของลูกหนี้ และยังช่วยให้ธุรกิจมีเงินทุนใหม่หมุนเวียน ทำให้มีหนทางปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจของตัวเองให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ภายในบริบทของวิถีชีวิตใหม่ หรือนิว นอร์มอล ได้พร้อมกัน ซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้อยู่รอดต่อไปในอนาคต
“โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ธปท.และสถาบันการเงินพิจารณาร่วมกัน พบว่า ยังมีลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ คือ ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่มีเจ้าหนี้หลายราย และแต่ละรายมีหนี้จำนวนใกล้เคียงกัน ทำให้เจ้าหนี้ไม่กล้าที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้ เพราะกลัวว่าจะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกับเจ้าหนี้รายอื่น โครงการนี้จึงเข้ามาตอบโจทย์ โดยเป็นกลไกความร่วมมือจัดการหนี้ให้แก่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ทุกแห่ง ด้วยการสร้างเงื่อนไขกลางที่เจ้าหนี้ทุกรายได้ตกลงร่วมกันไว้ก่อนในรูปแบบมาตรฐานในการเจรจากับลูกหนี้ และแต่งตั้งเจ้าหนี้หลักที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจาและประสานกับเจ้าหนี้อื่น ซึ่งทำให้แก้ไขหนี้ทำได้รวดเร็วและเบ็ดเสร็จในการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งเดียว”
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายของลูกหนี้รอบแรกที่เปิดให้ร่วมโครงการ คือ ลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาทต่อราย ซึ่งจากข้อมูลของ ธปท.มีจำนวนประมาณ 8,400 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าในจำนวนนี้จะมีลูกหนี้เอสเอ็มอีจำนวนหลายพันรายที่จะได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้ขอพักหนี้ 6 เดือนไว้ก่อนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะสิ้นสุดการพักหนี้ในวันที่ 22 ต.ค.นี้
โดยลูกหนี้ที่สนใจสามารถติดต่อสมัครโดยตรงกับสถาบันการเงินหลักที่เป็นเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินแจ้งลูกหนี้ให้เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่จะถึงนี้ และจะใช้เวลาในการพิจาณาปรับหนี้ภายใน 1 เดือน เพื่อให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีมีทางออกในการชำระคืนหนี้หลังโครงการพักหนี้ได้ทันเวลาและไม่กลายเป็นหนี้เสีย
“ในภาพรวมนั้น ธปท.จะไม่ขยายเวลาพักหนี้ของเอสเอ็มอีแบบเป็นการทั่วไปอีก หลังจากที่ครบกำหนดเวลาในการพักหนี้แล้ว เพราะในขณะนี้ลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังคงชำระหนี้ได้ และหากให้พักหนี้เป็นการทั่วไปอาจะทำให้บางรายที่ผ่อนส่งได้ เลือกที่จะพักหนี้ต่อ ดังนั้น จึงจะเน้นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงให้ตรงจุด และเหมาะสมกับผลกระทบที่ลูกหนี้แต่ละรายได้รับมากกว่า โดยเท่าที่หารือโครงการนี้ จะช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอีในภาคการพาณิชย์ และการท่องเที่ยว โรงแรมได้ค่อนข้างมาก และในอนาคตยังขยายโครงการไปยังลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อเกินกว่า 500 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 50 ล้านบาทได้อีกด้วย”
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท.สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกหนี้ที่สามารถเข้าโครงการดังกล่าวจะเป็นลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ทั้งที่มีฐานะปกติ และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นมา และไม่ถูกฟ้องร้องคดี ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการ จะได้รับเงื่อนไขที่เหมาะสมกับลูกหนนี้แต่ละราย เช่น หากจำเป็นก็สามารถที่จะขยายเวลาปลอดหนี้ในช่วงแรก รวมถึงการขยายเวลาชำระหนี้ การลดค่างวด หรือการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ให้สอดรับต่อธุรกิจของลูกหนี้ นอกจากนั้น เจ้าหนี้ยังสามารถพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ มีแผนธุรกิจชัดเจน มีพฤติกรรมชำระหนี้ดี และมีความตั้งใจในการทำธุรกิจ รวมถึงช่วยหาผู้ร่วมทุนหรือพาร์ตเนอร์ใหม่ได้ด้วย
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ลูกหนี้เอสเอ็มอี ต้องการในช่วงที่กำลังเผชิญกับโควิด-19 เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกรายมีโอกาสเจรจาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะเจาะจงของลูกหนี้แต่ละราย ที่ต้องการการแก้หนี้ที่แตกต่างกันไป และเป็นโอกาสที่จะมีเงินทุนใหม่ในการปรับโครงสร้างธุรกิจ หลังจากที่ธุรกิจจำนวนมากกังวลมากกว่าในวันที่ 23 ต.ค.หลังจากโครงการพักหนี้ครบกำหนดจะทำอย่างไรกับหนี้สินต่อไป และต้องขอบคุณ ธปท.ที่หารือกับ ส.อ.ท.มาตลอด และเปิดโอกาสให้เอกชนสะท้อนปัญหา จนมีนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาร่วมกัน