xs
xsm
sm
md
lg

ซิตี้แบงก์ปรับแผนรุกอีคอมเมิร์ซ ติวเข้มผู้ประกอบการรับ New Normal

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารซิตี้แบงก์ ปรับแผนเน้นรุกช่องทางอีคอมเมิร์ซ พร้อมจับมือลอรีอัล ประเทศไทย ลาซาด้า ประเทศไทย และไลน์ ประเทศไทย จัดติวเข้ม "เทรนด์ความปกติในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19" (New Normal Trends - Changes in Post COVID-19) โดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัล โซลูชัน มาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและภาคธุรกิจให้สามารถดำเนินธุรกิจข้ามวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

นายวรท หงุ่ยตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิต ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย
กล่าวว่า จากสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงโควิด-19 ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยส่วนใหญ่เป็นด้านการท่องเที่ยว ทำให้ซิตี้แบงก์ต้องทบทวนแคมเปญการใช้บัตรเครดิตและเปลี่ยนจากการส่งเสริมการขายด้านท่องเที่ยวเป็นด้านอีคอมเมิร์ซและสินค้าอุปโภคบริโภคแทน ที่ผ่านมา ซิตี้แบงก์ได้นำเสนอโปรแกรมเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อ ควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำและเคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีการใช้บริการธนาคาร และแนะนำคุณสมบัติด้านระบบดิจิทัลใหม่ๆ ที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ที่มาพร้อมฟังก์ชันอำนวยความสะดวกมากมาย เพื่อช่วยผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกรรมให้สะดวกและง่ายดายมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามในอนาคต ซิตี้แบงก์ก็จะคอยเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่เหล่าผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ซิตี้แบงก์ได้ร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับประเทศมากมาย เช่น ลาซาด้า (Lazada) ไลน์ (LINE) หรือแกรป (Grab) เพื่อมอบข้อเสนอพิเศษให้แก่ลูกค้าคนสำคัญ พร้อมให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับความปลอดภัยของระบบดิจิทัลและเร่งการเชื่อมต่อกับคู่ค้าอื่นๆ ผ่าน API เพื่อสร้างการใช้งานที่สะดวกที่สุดสำหรับลูกค้าทุกคน พร้อมกันนั้น ยังกระตุ้นพนักงานในองค์กรด้วยการเปิดตัวคลินิกดิจิทัลและจัดโรดโชว์ในองค์กร โดยสิ่งนี้จะช่วยให้ขับเคลื่อนคนในองค์กรให้สนับสนุนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นในอนาคต

นางญาดา ศาสตรสาธิต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ลอรีอัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ลอรีอัล ถือว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญในเรื่องของดิจิทัล โดยเราได้พยายามสร้างการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการแนะนำเครื่องมือด้านความงามที่แตกต่างให้แก่ผู้บริโภคชาวไทย โดยในช่วงล็อกดาวน์ ลอรีอัลได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคเพื่อความงาม ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องความงามน้อยลง ดังนั้น ในฐานะผู้นำด้านความงามลอรีอัลจึงได้ริเริ่มแคมเปญ 'Back to Beauty' โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญในสื่อดิจิทัลผ่านด้านข้อมูลและบริการเพื่อเพิ่มประสบการณ์ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังหารือร่วมกับกับกรมอนามัยเพื่อสนับสนุนร้านเสริมสวยและชุมชนเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อปกป้องตนเองและผู้บริโภคอีกด้วย

น.ส.ภารดี สินธวณรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด ลาซาด้า ประเทศไทย เผยว่า พฤติกรรมการชอปปิ้งของผู้บริโภคเปลี่ยนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์มากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ และการชอปปิ้งออนไลน์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความปกติในรูปแบบใหม่ โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม ลาซาด้าได้เห็นผู้ซื้อรายใหม่หลายล้านคนใช้แพลตฟอร์มเราในประเทศไทยและจำนวนผู้ขายรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 75% ตัวชี้วัดการขายทั้งหมดแสดงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจากจำนวนรายได้ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย นอกเหนือจากการเปิดตัวแคมเปญการตลาดเพื่อช่วยให้ผู้ซื้อประหยัดเงินมากขึ้น บริษัท ยังได้เปิดตัวแพกเกจ SME Stimulus เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กอย่างน้อย 90,000 รายทั่วประเทศสามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19

"ปัจจุบันอีคอมเมิร์ซถือเป็นช่องทางสำคัญสำหรับธุรกิจที่จะเติบโตในช่วงความปกติในรูปแบบใหม่นี้ ลาซาด้ามีความยินดีที่จะเห็นร้านค้าออฟไลน์และห้างสรรพสินค้ากลับมาดำเนินการต่อ โดยมีข้อจำกัดและผ่อนคลายลง แล้วก็มีความยินดีที่ได้เห็นแนวโน้มภาพรวมและปริมาณของธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์ที่แข็งแกร่ง อีกทั้งลาซาด้ายังคงสนับสนุนแบรนด์และผู้ขายของเราอย่างต่อเนื่อง โดยช่วยผลักดันยอดขายออนไลน์ด้วยข้อเสนอและโปรโมชันที่น่าสนใจ ตลอดจนการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์ที่ปลอดภัยและราบรื่นให้แก่ลูกค้า"

นายกฤษณะ งามสม หัวหน้าฝ่ายธุรกิจโฆษณา ไลน์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจของไลน์ยังแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมากของการใช้งาน มีรายการที่น่าสนใจคือ MyShop, In-LINE Live Viewer และ 1: 1 Chat เพื่อกระตุ้นยอดขาย พบว่า บริษัทขนาดใหญ่มักจะทดลองวิธีใหม่ในการทำธุรกิจและการขาย การใช้การแชตสดและการแชตแบบ 1: 1 เพื่อติดตามและปิดการขายถือเป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ในช่วงวิกฤต และตามกลยุทธ์ แนะนำให้ธุรกิจต้องมีรากฐานที่แข็งแกร่ง (เช่น จำนวนผู้ติดตามของบัญชีอย่างเป็นทางการจำนวนมาก) พร้อมทั้งขยายขนาดผ่านแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและขับเคลื่อนการสนทนาที่มากขึ้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดของไลน์สร้างขึ้นจากข้อมูลขนาดใหญ่และพร้อมที่จะรองรับความต้องการทางธุรกิจสำหรับทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs
กำลังโหลดความคิดเห็น