xs
xsm
sm
md
lg

คูแลป จับมือ ม.รังสิต ร่วมพัฒนานวัตกรรมบล็อกเชน ตั้งเป้า 5 ปี จบปัญหาใบปริญญาปลอม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายนัฐพล นิมากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ซาโตชิ จำกัด
คูแลป (KULAP) จับมือ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ มูลนิธิไทยเชน ลงนามเซ็นสัญญาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ พร้อมเป็นต้นแบบผลักดันการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ในรั้วมหาวิทยาลัย รวมทั้งแก้ไขปัญหาการตรวจสอบ จัดเก็บข้อมูล และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทดลองใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนของจริง

นายพลากร ยอดชมญาณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาโตชิ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ ภายใต้แบรนด์ “คูแลป” (KULAP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิไทยเชน ผู้ให้บริการดูแลเครือข่ายบล็อกเชนสาธารณะ ลงนามเซ็นสัญญาความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทั้งในส่วนบุคลากรสายวิชาการ นักศึกษา รวมถึงงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านบล็อกเชน (Blockchain) สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ชุมชม ภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งระดับชาติและนานาชาติ

“จากก่อนหน้าที่ทางคูแลปเราได้มีส่วนร่วมในชุมชน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ในฐานะวิทยากร หรือการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในองค์กรต่าง ๆ จนถึงวันนี้เหมือนเป็นอีกขั้นที่คูแลปจะได้มีส่วนช่วยผลักดันความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีบล็อกเชน แก่น้อง ๆ นักศึกษาถึงรั้วมหาวิทยาลัย”

โดยการร่วมมือในครั้งนี้ “คูแลป” และ “มูลนิธิไทยเชน” จะร่วมกันจัดตั้งเครื่องแม่ข่าย เพื่อใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชน (Signer Node) ของไทยเชน และร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบโปรแกรมสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บนบล็อกเชนสำหรับใช้งานภายในมหาวิทยาลัยรังสิต

นายนัฐพล นิมากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ซาโตชิ จำกัด กล่าวเสริมว่า เครื่องแม่ข่ายหรือ Singer Node ที่เราจัดตั้งขึ้น มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันข้อมูลธุรกรรม (Sign) เพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบข้อมูลในบล็อกเชน อาทิเช่น ธุรกรรมชำระเงิน การซื้อคูปองศูนย์อาหาร การโหวตเลือกสภานิสิต รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร โดยเฉพาะใบปริญญาและใบรับรองต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีการปลอมแปลงกันมากมาย และยังหาทางตรวจสอบได้ยาก โดยทางเรามุ่งหวังว่า ภายใน 5 ปี หลังจากที่เรามีข้อตกลงความร่วมมือกันครั้งนี้ จะทำให้เราร่วมพัฒนาระบบตรวจสอบที่มีความถูกต้องน่าเชื่อถือ ในระดับสากล และพร้อมเปิดให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้งานได้

ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจที่สามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับองค์กรให้เกิดประโยชน์ การเซ็นสัญญาความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ (MOU) ยังเปรียบเสมือนการเริ่มต้นนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อมูลของนักศึกษา การตรวจสอบข้อมูล รวมไปถึงระบบโปรแกรมสัญญาอัจฉริยะบนเครือข่ายบล็อกเชน โดยการร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการสร้างรากฐานของระบบการศึกษาให้มีความทันสมัย และผลักดันประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนต่อไป

นายพลากร ยอดชมญาณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาโตชิ จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น