ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ประเมินว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยแม้จะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปยังต้องเผชิญต่อความเสี่ยงจากการชะลอตัวของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (stalling economic recovery) และมาตรการสนับสนุนที่ทยอยหมดอายุลง (fiscal cliff) ทำให้ กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 0.5% ต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2563 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy space) ไว้ เตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเครื่องมือเพื่อการออมของไทยที่มีอยู่จำกัด
หลังจากการประชุม กนง.ครั้งถัดไปวันที่ 23 ก.ย.ที่จะถึง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิก กนง. จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.แทนนายวิรไท สันติประภพ โดยนายเศรษฐพุฒิ ได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินค่อนข้างมาก และจะเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปราะบางทางการเงินผ่านพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่ กนง.คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีในการกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด และยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่ 2 โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในไทยและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ โดยด้านการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ กนง. ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นจากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ด้านอุปสงค์ในประเทศหดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัวและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน
ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
นอกจากนี้ กนง.ยังมีความกังวลต่อเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาล (corpoate spread) ยังอยู่ในระดับสูง สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ที่ลดลง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง กนง. เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ส่วนค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นและกลับมาแข็งค่าตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม