xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นอสังหาฯ เสี่ยงถูกเทกฯ NCH เมิน RICHY อ้าแขนรับย้ำต้องหนุนโต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ มองหุ้นอสังหาริมทรัพย์ RICHY -LPN - NVD -NCH เสี่ยงเป็นเป้าหมายถูกซื้อกิจการ เหตุราคาหุ้นปรับตัวลงหนักต่ำกว่าบุ๊คแวลูมาก ขณะผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง 5 ปี บอส “เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง” ยันไม่เปิดทาง มั่นใจสภาพคล่องสูง ผลงานดีไม่มีปัญหาและการจ่ายปันผลสม่ำเสมอสะท้อนราคาหุ้นสู่ปกติ ส่วนราคาหุ้นต่ำกว่ายบุ๊คแวลู เป็นไปตามภาวะตลาดทั่วโลก บิ๊ก “ริชี่เพลซ 2002 ”เผยพร้อมเปิดทาง หากหนุนธุรกิจให้เติบโต มั่นใจบริษัทมีกำไรต่อเนื่องและหนีขาดทุนได้แม้โควิด-19 ระบาด

เป็นที่ทราบกันดีกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังปี2562สะท้อนจากการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมถึงยอดขายที่ลดลงกว่า 20-30% จากช่วงครึ่งปีแรกและยอดขายทั้งปีที่หดตัวกว่า 30% จากปีก่อนหน้า เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้เกิดหนี้ครัวเรือนขยับเพิ่ม รวมถึงความไม่แน่นอนของการเมือง อีกทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่ยืดเยื้อ อีกทั้งผลกระทบจากมาตรการจำกัดวงเงิน อย่างมาตรการกำหนดสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติทำให้ยอดขายปรับตัวลดลง จึงเสมือนความซ้ำร้ายเพิ่มอีก

กระทั่งปลายปีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็มาสร้างกระแสให้ทั่วโลกมิอาจดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ละประเทศล็อกดาวน์ตามมาตรการป้องกัน และแน่นอนว่าวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป ความอึมครึมของภาวะเศรษฐกิจทำให้คนระมัดระวังในกาารจับจ่ายใช้สอย

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็ระมัดระวังและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวมาอยู่ที่ 3.05 % ในไตรมาสแรกปีนี้ จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2.98 % และตัวเลขที่แบงก์ชาติ ได้สำรวจฝั่งความต้องการสินเชื่อทั้งระบบในไตรมาส 2 ปี 2563 เมื่อดูในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ผ่านสถาบันการเงินต่างพบว่าตัวลงลงมาติดลบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50 จากเดิม ติดลบ 30 ซึ่งสะท้อนความหมายว่าความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้น ดูเหมือนว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้สดใสอย่างที่ควรจะเป็น เพราะหลายบริษัทพยายามจะผุดโครงการใหม่ๆ ตามแผนงานแต่ละปี กลับต้องพับแผนหรือชะลออกไปและหลายโครงการที่ยังค้างเติ่งและขายไม่ได้ตามเป้า ส่งผลต่องานในมือหรือ Backlog ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการลดความผันผวนของรายได้และกำไรปกติของบริษัท ทำนองว่าใครมีงานในมือหนาแน่นก็ยังพอหายใจไปได้อีกระยะ เพราะสถานการปัจจุบันพอจะมองออกแล้วว่าคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯไตรมาส 2 ปี 2563 ยังถือว่า มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีต่ำกว่าปัจจุบันอยู่ที่ 41.2 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาฯมีทิศทางที่ดีขึ้น ภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ไม่เกิดขึ้นในไทยติดต่อกันยาวนานกว่า 3 เดือน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากหลายสำนัก มองว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ครึ่งหลังปี 63 จะฟื้นตัวขึ้น ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับรอบธุรกิจอสังหาฯ ที่โดยปกติช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกเพราะมีหลายโครงการคอนโดฯ ใหม่ที่กำหนดสร้างเสร็จพร้อมโอนฯ ช่วงครึ่งหลังโดยเฉพาะไตรมาส 4 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ยังอ่อนตัว และปัญหาเรื่องคุณภาพของ Backlog ว่าการโอนฯ ของลูกค้ามีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งย่อมมีผลต่อการรับรู้รายได้และกระแสเงินสดของผู้ประกอบการตามมา

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาพบว่าราคาหุ้นหลายตัวปรับลงมาแรง จนมี Valuation น่าสนใจ และอัตราเงินปันผลอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 5-8% เป็นปัจจัยหนุนต่อการลงทุนในหุ้นอสังหาฯ ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง

บล.หยวนต้า เผย บจ.เป้าถูกเทกฯ

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า(ประเทศไทย) กางบทวิเคราะห์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เรื่อง "เมื่อหุ้นอสังหาฯ ถูกเหมือนแบกะดิน...ใครมีโอกาสเป็นเป้าถูก Takeover" ว่า ราคาหุ้นอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงแรงจากผลกระทบเชิงลบหลายปัจจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวลดลงเฉลี่ยกว่า 19.0% YTD ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานปี 63 ทั้งในแง่ของการระบาย Inventory รวมถึงอัตราดูดซับอุปทานสำหรับโครงการเปิดตัวใหม่ เป็นผลให้การแข่งขันทางด้านราคาของผู้ประกอบการรุนแรงยิ่งขึ้น

4 ปัจจัยหลัก หุ้นที่มีโอกาสถูก M&A

แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่คาดผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังประคองผลประกอบการในระดับที่มีกำไรได้ งบดุลของกลุ่มจึงไม่ถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญ การปรับตัวลงของราคาหุ้นในกลุ่มทำให้ราคาปัจจุบัน ซื้อขายบน P/BV2562 เฉลี่ยที่เพียงราว 0.55 เท่า ในเชิง Valuation จึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ให้ความสำคัญต่อมูลค่าทางบัญชีที่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างมีนัยสำคัญ Criteria ในการ Screen หุ้นถูกในสภาวะตลาดลดราคา โดยพิจารณาปัจจัยหลัก 4 ปัจจัยในการค้นหาหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่าราคาซื้อขายในตลาดไม่ว่าจะเป็นมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงหลังหักลบหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย เทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Liquidity) ,เสถียรภาพทางการเงินของบริษัท (Stability) , ความสามารถการทำกำไรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (Performance) และ มูลค่าทางบัญชีและสภาพคล่องในการซื้อ-ขายของหลักทรัพย์ (P/BV and Trading Liquidity) เริ่มต้นด้วยการคัดเลือกหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จำนวน 15 บริษัท จากทั้งสิ้น 30 บริษัท ที่มีมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพื่อนำไปประเมินใน 4 ปัจจัยข้างต้น โดยให้น้ำหนักการประเมินของ Liquidity, Stability, Performance และ P/BV and Trading Liquidity ที่ 50%, 15%, 15% และ 20% ตามลำดับ

4 หุ้นที่เข้าข่ายในการถูก M&A

หลังการ Screening ผ่าน 4 ปัจจัยหลัก พบว่ามี 4 บริษัทที่ บล.หยวนต้า มองว่ามีโอกาสในการเป็นเป้าหมายของการ M&A คือ บมจ.ริชี่ เพลซ 2002(RICHY),บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์(LPN), บมจ.เนอวานา ไดอิ (NVD) และ บมจ.เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง(NCH) จากการมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าตลาดและมีผลการดำเนินงานที่ดีช่วง 5 ปีที่ผ่านมา RICHY บริษัทเน้นพัฒนาโครงการแนวสูงเป็นหลัก โดย ณ สิ้นปี 2562 มีอัตราส่วนของโครงการแนวสูงต่อแนวราบพร้อมขายที่ 9:1 ณ สิ้น 1Q63 บริษัทมีเงินสดและ Inventory มูลค่า 6.3 พันลบ. เมื่อหักลบกับหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 3.5 พันลบ. จะมีมูลค่า 2.8 พันลบ. สูงกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) กว่า 3.2 เท่า ทำให้ RICHY มีประเด็น Asset Play ที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่ม

LPN บริษัทเน้นพัฒนาโครงการแนวสูงระดับกลาง-ล่างเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของ โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งหมด แม้ผลประกอบการของ LPN ช่วงปี 58-62 ไม่โดดเด่น มูลค่าของเงินสดและ Inventory หลังหักหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ณ สิ้น1Q63 มีมูลค่าสูงกว่ามาร์เก็ตแคป ถึง 1.5 เท่า กอปรกับมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนเพียง 0.67 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 1.11 เท่า) และมี Free float ที่สูงถึง 91%

NCH ธุรกิจหลักของ NCH คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบ อาทิ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และ ทาวน์เฮ้าส์ ถึงแม้ความสามารถในการทำกำไรในช่วงปี 59-62 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม แต่มูลค่าของเงินสดและ Inventory หลังหักหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ณ สิ้น1Q63 มีมูลค่าสูงกว่ามาร์เก็ตแคป กว่า 3.2 เท่า และมี P/BV2562 ที่ต่ำเพียง 0.32 เท่า

NVD บริษัทย่อยในเครือ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S โดย ณ สิ้นปี 62 มีสัดส่วนของโครงการพร้อมขายแบ่งเป็น โครงการแนวราบ โฮมออฟฟิศ และ คอนโดที่ 46%, 9% และ 45% ตามลำดับ มีจุดเด่นคือการกระจายตัวของ Scorecard ที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่ม สะท้อนความแข็งแกร่งทางการเงิน และการเติบโตของผลประกอบการที่โดดเด่นกว่าผู้เล่นส่วนใหญ่ในกลุ่ม ขณะที่หุ้นซื้อ-ขายบน P/BV2562 ที่เพียง 0.40 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 0.53 เท่า แต่มีปัจจัยกดดันคือ Free float ใน

NCH เมินชี้สภาพคล่องเจ๋ง RICHY เปิดทางหนุนธุรกิจ

NCH พื้นฐานแกร่งผลงานดี ไม่มีเปิดทาง

สมนึก ตันฑเทิดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ NCHเปิดเผยว่าในส่วนของ NCH ไม่มีแผนที่จะเปิดทางรับกลุ่มทุนหรือผู้ที่สนใจให้เข้ามาถือหุ้น เพราะบริษัทมีสภาพคล่องสูง มีที่ดินรอการพัฒนาอีกมาก รวมทั้งผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยอมรับว่าหลายบริษัทก็ประสบภาวะเดียวกันคือราคาหุ้นต่ำมาก เพราะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกดัชนีดิ่ง ฉุดราคาหุ้นที่เทรดในกระดานแทบจะทุกตัวต่ำเกินความเป็นจริง แต่เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย ก็จะกลับเข้าสู่ปกติ

“ผลประกอบการที่ดี ผลตอบแทนจากการลงทุน ตลอดจนโครงการที่พัฒนาและขายได้ตามเป้า การจ่ายปันผลสม่ำเสมอ และอื่นๆ จะสะท้อนราคาหุ้นเราได้ในอนาคตครับ เพราะผมใส่ใจกับรายย่อยที่ถือหุ้นมากว่า ไม่อยากให้กระทบรายย่อยและต้องการให้ผู้ถือหุ้นสบายใจ และยืนยันว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของเราจะยังถือกันไปอีกนานไม่ปล่อยหุ้นแน่นอน เพราะ NCH ปัจจัยพื้นฐานแกร่ง ผมคิดว่าอาจเพราะช่วงนี้ราคาหุ้นหลายบริษัท ต่ำกว่าบุ๊คแวลู ทำให้นักวิเคราะห์มองว่ามีกลุ่มทุนรอจังหวะเข้ามาลงทุน แต่เราไม่เปิดรับใครแน่นอน แต่ถ้าเป็นการร่วมศึกษาและลงทุนกันแบบบายโปรเจ็กต์ก็อาจมีบ้าง แต่ต้องเงื่อนไขที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย ”

โดยปีนี้ NCH เป้ารายได้ปี 2563 ไว้ที่ 1,700-1,800 ล้านบาท ขณะมียอดขายที่รอโอน 600-700 ล้านบาท คาดจะทยอยส่งมอบและรับรู้รายได้ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงไตรมาส 4 และเตรียมพัฒนาโครงการใหม่ในช่วงที่เหลือปีนี้อีกราว 3-4 เพื่อสร้างยอดขายของธุรกิจในอนาคต เพราะหลังเกิดโควิด-19 พบว่าลูกค้าให้ความสนใจบ้านเดี่ยวทำเลนอกเมือง ห่างไกลความแออัดมากขึ้น ส่งผลดีต่อ NCH โดยตรง จึงมั่นใจว่าผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องตามเป้าหมาย

RICHYพร้อมเปิดทาง หนุนธุรกิจให้เติบโต

อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY ยอมรับว่าราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊คแวลูมา ถูกจนไม่น่าเชื่อ ซึ่งหุ้นทุกตัวในตลาดล้วนราคาต่ำกว่ามูลค่า ดังนั้น เป็นโอกาสของนักลงทุนที่ต้องการซื้อของถูก แต่ก็ต้องดูเนื้อในด้วยว่ากลวงหรือไม่อย่างไร RICHY เอง หากมีคนสนใจหรือต้องการมาลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และหุ้น RICHY ก็มีนักลงทุนรายใหญ่บางคนทะยอยซื้อเก็บ

"กรณีที่ว่าหุ้นเราอาจมีกลุ่มทุนต้องการเทกโอเวอร์ หรือจะเข้ามาลงทุน เราก็พร้อมเสมอ ถ้าเงื่อนไขดีและเข้ามาเกื้อนหนุนธุรกิจให้เติบโต และต้องเป็นการลงทุนระยะปานกลางถึงยาว ที่ผ่านมาก็มีเข้ามาคุยกันหลายราย แต่ไม่เราตกลงใจเพราะไม่เข้าเงื่อนไขที่ตั้งไว้ มั่นใจว่าบริษัทเราดี ไม่มีหนี้เสีย เพราะไม่เคยขาดทุนเลย พันธมิตรที่จะเข้ามาก็ต้องมาทำให้ผลประกอบการเติบโตดีและกำไร เพื่อแบ่งปันไปให้กับผู้ถือหุ้นของเรา ซี่งไตรมาสแรกที่ผ่านมาแม้โควิด-19 ระบาด แต่ผลประกอบการของเราก็หนีขาดทุนได้ และมั่นใจว่าไตรมาส 2 ยังฝ่าไปได้ "

อย่างไรก็ดี ยอมรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัททบทวนแผนและปรับกลยุทธ์การดำเนินงานปี 2563 เพราะไตรมาสแรกได้รับผลกระทบเพราะผลงานลดลงทั้งงยอดขาย (Presale) และยอดโอนกรรมสิทธิ์โครงการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจำนวนของยอดผู้เข้าชมโครงการ (walk in) ลดลง 90% เนื่องจากประชาชนมีความกังวลในสถานการณ์ดังกล่าวจนไม่กล้าที่จะออกจากบ้าน

หลังจากรัฐคลายล็อกดาวน์ พบว่าลูกค้าก็มีการ walk in มากขึ้น และที่ผ่านมา RICHY อัดโปรโมชั่นมากมายเพื่อเรียกลูกค้ารวมทั้งช่วยเหลือลูกค้าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและยังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การพักชำระหนี้ทั้งหมดชั่วคราว จัดโปร “Triple Solution” (ทริปเปิ้ลโซลูชั่น) เพิ่มทางเลือกให้ตรงใจลูกค้า

LPN ซื้อหุ้นคืน ปฎิเสธถูกเทก ฯ

จากราคาหุ้นบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ที่เทรดในกระดานระยะนี้เคลื่อนไหวระหว่าง 4-5 บาท ที่สุดบริษัทได้ประกาศทำการซื้อหุ้นคืนวงเงินสูงสุด 500 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืน 126 ล้านหุ้นหรือ 8.54% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ระยะเวลาซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 3 ธันวาคมพ.ศ. 2563 เพื่อสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่มั่นคงของบริษัท และเพื่ออัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นและเพิ่มอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น แม้ว่าก่อนหน้านั้นมีกระแสข่าวสะพัด ที่ว่าบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด(มหาชน) จะเข้ามาถือหุ้นลักษณะครอบงำกิจการ จนทำให้ราคาหุ้น LPN ขยับมซื้อขายสนั่นหวั่นไหวมาแล้วเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อ ตลาดหลักทรัพย์ ฯสอบถาม ก็ได้รับคำชี้แจงปฎิเสธจากผู้บริหาร LPN

อย่างไรก็ดี ข้อมูลการถือหุ้นของ LPN เมื่อเดือน มิ.ย. 2563 พบว่า มีผู้ถือหุ้นเพิ่มใหม่ 4 ราย คือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS 20 ล้านหุ้นหรือ 1.36%, นายธีรพล นพรัมภา หรือ “เสี่ยโป๋ว” 35 ล้านหุ้นหรือ 2.37%, นายวิบูลย์ อาภรณ์วิรัตน์ 11,656,000 หุ้นหรือ 0.79% และ GLODMAN SACHS INTER NATIONAL 8 ล้านหุ้นหรือ 0.54% ตรงข้ามกับ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ที่ลดการถือหุ้นเหลือ 47,119,323 หุ้น หรือ 3.19% จากเดิมถืออยู่ 5.03%

NVD ครึ่งปีแรกชะลอตัว เลื่อนเปิดโครงการใหม่

บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) หรือ NVD ผู้บริหารประเมินภาพรวมธุรกิจครึ่งแรกปี 2563 ชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจในประเทศและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้การดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ มีรายได้รวมอยู่ที่ 366.61 ล้านบาท และขาดทุน 9.55 ล้านบาท ลดลง 61% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน

ดังนั้น จึงต้องเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปเป็นช่วงครึ่งปีหลัง 3 โครงการ มูลค่ารวม 4,500 ล้านบาท ส่วนยอดขายรอการโอนกรรมสิทธิ์ในมือ (Backlog) อีกกว่า 1,807 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะทยอยรับรู้ในปี 2563 และมีบางส่วนรับรู้ปี 2564 และมีสินค้าเหลือขายในมือรวมมูลค่า 2,741 ล้านบาท จากโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการรวม 17 โครงการ ขณะบริษัทมีที่ดินเปล่า 274 ไร่ รองรับการพัฒนาโครงการได้ มูลค่า 35,000 ล้านบาท และมองว่าผลการดำเนินงานช่วงครึ่งหลังมีแนวโน้มการฟื้นตัว จากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องเพนต์เฮาส์ในโครงการ บันยันทรีเรสซิเดนซ์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ และโครงการ เดอะ โมส อิสรภาพ ส่วนธุรกิจรับจ้างก่อสร้างมีฯงานในมือ (Backlog) กว่า 100 ล้านบาท และยังรับงานก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันเพิ่มด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น