xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.แจงเงินเฟ้อต่ำเป้าหมายยังไม่เข้าภาวะเงินฝืด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.แจงเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน มีแนวโน้มติดลบ เกิดจากพิษโควิด-19 ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เดินนโยบายผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อจะทยอยกับเข้าสู่เป้าหมายต่อไป

ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3 % เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2563 และระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น

วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของ
เดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ -1.57% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2562-มิถุนายน 2563) อยู่ที่ -0.31% ประกอบกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2563-มิถุนายน 2564) ตามรายงานนโยบายการเงินเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ -0.9% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2563 ดังนั้น กนง. จึงขอเรียนชี้แจง (1) สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย (2) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ (3) การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2562-มิถุนายน 2563) และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2563-มิถุนายน 2564) ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงในปี 2563 และระยะเวลาของการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยการแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลงมากและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต (supply chain disruption) รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงมากตามมาตรการควบคุมการระบาดและการว่างงานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลงอีกด้วย

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยกำลังเผชิญต่อความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (deflation risk) ในปัจจุบัน โดยพิจารณาจาก 4 เงื่อนไข ได้แก่ (1) ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องยาวนาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางสูงขึ้นและเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 (2) ราคาสินค้าและบริการหดตัวเฉพาะในบางประเภท โดยราคาของสินค้าและบริการกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ต่างจากกรณีภาวะเงินฝืดที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่จะหดตัว (3) การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าจากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 1.8% อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามและประเมินเงื่อนไขท้ายสุด (4) อุปสงค์และการจ้างงานจะไม่ชะลอลงยาวนานต่อเนื่องหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด โดยจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งรายได้ การจ้างงาน รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อสารกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด
ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

แม้ว่าประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2563-มิถุนายน 2564) จะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย แต่ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จะทยอยปรับดีขึ้นจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและช่วยฟื้นฟูกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดและพลังงาน สอดคล้องต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่าปัจจัยด้านอุปทานทั้งจากราคาอาหารสดและพลังงานจะผันผวนสูงตามสถานการณ์ภัยแล้งและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเศรษฐกิจโลกและไทยที่มีความไม่แน่นอนสูงในการฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจต่างไปจากที่ประมาณการไว้

การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) กนง. ให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ดังนั้น ในการพิจารณานโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนั้น กนง. คำนึงถึงขนาดและสาเหตุของปัจจัยที่เข้ามากระทบ ตลอดจนบริบทและแนวโน้มของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อกำหนดแนวนโยบายที่จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 กนง. เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มหดตัวและเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่หดตัวและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลก สำหรับอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวจากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงมาก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบและอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ดังนั้น กนง. จึงมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จาก 1.25% ต่อปี ณ สิ้นปี 2562
มาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และสนับสนุนให้ดำเนินการควบคู่กับการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund Fee : FIDF Fee) จาก 0.46% เป็น 0.23% ของฐานเงินฝากเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายเพิ่มขึ้นและลดต้นทุนทางการเงินให้ภาครัฐและเอกชน รวมถึงสอดรับต่อมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไป ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ กนง. ยังสนับสนุนให้ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงผ่อนผันกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น การผ่อนผันการชำระหนี้โดยไม่เสียประวัติในฐานข้อมูลเครดิต และการลดภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และให้ดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินเพื่อให้ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและตลาดการเงิน ซึ่งจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อีกทางหนึ่ง

ในระยะต่อไป กนง. เห็นว่ามาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิดให้ตรงจุดและทันการณ์ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจไม่ให้ลุกลามและเร่งกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทหลักที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเติบโตในระยะต่อไป ขณะที่นโยบายการเงินยังจำเป็นต้องผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะต่อไป รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการของข้อมูลทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประเมินปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อพลวัตเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชน ควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่
6 ธันวาคม 2562 กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า หาก ณ เวลานั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น