xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม?..ต่างชาติจึงเทขายหุ้นไทยไม่หยุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 รวมมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ต่างชาติยังทยอยลดการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยเมื่อเทียบกับ ASEAN จากที่ไทยเคยมีสัดส่วนของ FDI สูงถึง 44% ในช่วงปี 2006-2010 ลดเหลือเพียง 14% ในปัจจุบัน

จากการวิเคราะห์ของ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงรุนแรงตั้งแต่ช่วงต้นปีจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุน และสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่เศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกในสัดส่วนที่สูงอย่างไทย ปรากฏการณ์สำคัญในตลาดหุ้นไทยคือการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง จนดัชนี SET index ปรับตัวลดลงลึกสุดถึง 30% ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงแม้ภาวะตลาดจะปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุด แต่ยังเห็นการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 ก.ค.2020) ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยแทบทุกสัปดาห์ และขายไปมากถึง 2.2 แสนล้านบาท

นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องมากว่า 7 ปี

หลายคนคงหวังว่า เมื่อสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลงนักลงทุนต่างชาติคงเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง แต่หากมองย้อนหลังกลับไปไกลกว่านั้น จะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เป็นแค่การขายหุ้นออกไประยะสั้นๆ หรือเป็นเฉพาะผลกระทบจาก COVID-19 เท่านั้น แต่นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยสุทธิอย่างต่อเนื่องในแทบทุกปีตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นกลุ่มที่สะสมหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่สะสมหุ้นไทยเพิ่มขึ้นในมูลค่าใกล้เคียงกัน

คำถามคือ ทำไมนักลงทุนต่างชาติจึงขายหุ้นไทยมากและต่อเนื่องขนาดนี้? เพราะอะไรต่างชาติถึงขายหุ้นไทยไม่หยุด ?

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าสิ่งหนึ่งที่แตกต่างระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนไทย คือ ต่างชาติมีตัวเลือกในการลงทุนทั่วโลก ต่างกับนักลงทุนไทยที่เงินลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเพราะข้อจำกัดในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ความรู้ความเข้าใจที่ยังน้อยในตลาดของประเทศอื่น อีกทั้งคนไทยก็ยังคงต้องใช้จ่ายในประเทศด้วยเงินบาทเป็นหลัก ทำให้คนไทยโดยมากยังนิยมลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติไม่จำเป็นต้องลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญในการเลือกประเทศที่จะลงทุนคือปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นของประเทศนั้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางผลตอบแทนของการลงทุนในระยะยาว

เมื่อย้อนกลับไปดูแนวโน้มการเติบโตของตลาดหุ้นไทยที่อ้างอิงจากดัชนี MSCI Thailand Index เทียบกับประเทศอื่นๆ ก็จะพบว่าไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนต่างชาติจะเมินหุ้นไทย เพราะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยแทบไม่โตเลย ยังคงอยู่ที่ระดับเดิมในปี 2013 ในขณะที่ดัชนี MSCI ของประเทศสหรัฐอเมริกาเติบโตถึงกว่า 100% และดัชนีของภูมิภาคเอเชียโดยรวมโตกว่า 50%

ทิศทางการเติบโตของตลาดหุ้นในระยะยาวเป็นเครื่องสะท้อนศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศได้ดีระดับหนึ่ง การที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจกับประเทศไทยน้อยลงอย่างต่อเนื่องและหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน ไม่เพียงแต่กดดันทิศทางตลาดหุ้นไทยเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่า คือ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในอนาคตตกต่ำลงอย่างถาวรเมื่อเทียบกับในอดีตและเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

เศรษฐกิจโตต่ำ ต่างชาติย้ายฐานการผลิต

จากการวิเคราะห์เห็นว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดต่ำมาโดยตลอดจากค่าเฉลี่ย 7% ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง มาอยู่ที่ประมาณ 5% ในช่วงปี 1999-2012 ในขณะที่ช่วง 7 ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 3.0% ต่อปีเท่านั้น หากมองในแง่การยกระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศที่มักวัดโดยการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) จะพบว่าไทยพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศอื่นมากนับตั้งแต่ช่วงหลังผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ทำให้จนถึงปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเติบโตจนหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ (Middle income trap) ในขณะที่ประเทศจีนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อ 20 ปีที่แล้ว GDP per capita ของจีนอยู่ที่ USD 959 ต่ำกว่าไทยที่อยู่ที่ USD 2,007 ถึงเท่าตัว แต่ในปัจจุบันประเทศจีนมี GDP per capita สูงถึง USD 10,261 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ขณะที่ไทยที่อยู่ที่เพียง USD 7,808 หรือเพิ่มขึ้นไม่ถึง 4 เท่า

ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังสะท้อนอยู่ในความสามารถในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign direct investment) หากเปรียบเทียบสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามายังประเทศต่างๆ ในแถบ ASEAN จะพบว่าไทยได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อยๆ จากที่เคยได้ market share ของ FDI สูงถึง 44% ในช่วงก่อนหน้า ปัจจุบันลดเหลือเพียง 14% เท่านั้น หากพิจารณาเฉพาะภาคการผลิตที่เป็นภาคที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในอดีต อีกทั้งเป็นภาคส่วนที่ช่วยให้เกิดทั้งการจ้างงานในวงกว้าง และช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ให้แก่ประเทศไทยซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วยแล้ว กลับพบว่าตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติในภาคการผลิตค่อยๆ ชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2006-2010 มีมูลค่าเฉลี่ยต่อปี 10,853 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเหลือเพียงประมาณ 7,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น หรือลดลงไปกว่า 34% โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ลดลงไปมากกว่าครึ่ง จึงอาจพูดได้ว่าไม่ใช่แค่นักลงทุนต่างชาติทิ้งหุ้นไทยในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่ต่างชาติยังทยอยทิ้งประเทศไทยในฐานะเป็นฐานการผลิตของโลกอีกด้วย

ปัญหาสำคัญคือการขาดการลงทุน

ในมุมมองของ KKP Research เห็นว่าสำหรับเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศสูงอย่างประเทศไทย เมื่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวหลักอย่างภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกดับลง แน่นอนว่ากระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวมีลักษณะที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมาจากแรงขับเคลื่อนภายในโดยเฉพาะในด้านการลงทุน สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีต หรือเทียบกับประเทศอื่นๆ สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของไทยอยู่ที่เพียงประมาณ 20-25% ในช่วงที่ผ่านมา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน คือกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ที่มีระดับการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.5% ต่อ GDP

หากดูเป็นรายบริษัทโดยใช้ข้อมูลงบการเงินของบริษัทในตลาดหุ้นไทย จะเห็นภาพคล้ายๆ กันว่าบริษัทไทยมีการลดการลงทุนลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตัวเลขค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน หรือ Capital Expenditure (CapEx) ที่ชะลอตัวลงชัดเจน การเติบโตของ CapEx ของบริษัททั้งหมดในตลาดหุ้นไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยที่ปีละ 16% YoY ในช่วงปี 2004-2009 เหลือเพียงเติบโตปีละ 1.6% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลดการลงทุนลงอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน การก่อสร้าง การขนส่ง IT distributor อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จะมีก็แต่เพียงกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร การค้าปลีก รวมทั้งกลุ่ม healthcare และอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตของการลงทุนไว้ได้ใกล้เคียงเดิม ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่หันไปพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการเป็นหลัก ในขณะที่บทบาทของภาคการผลิตถดถอยลงไปเรื่อยๆ

ทำไมบริษัทไทยจึงไม่ลงทุน (ในประเทศไทย)?

ประเทศมากกว่าการขยายการลงทุนในไทย ทำให้การออกไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทย (Thai direct investment : TDI) เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา สวนทางกับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในไทย (Foreign direct investment : FDI) ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การออกไปลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจพลังงาน การค้าและการโรงแรม ในขณะที่ภาพรวมการลงทุนของอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำไม่ว่าจะวัดจากมิติใดก็ตาม

นอกจากนี้ การที่ภาคธุรกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ลงทุนเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับในอดีตและเมื่อเทียบประเทศอื่น ทั้งๆ ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน สภาพคล่องในระบบการเงินเหลือล้น และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจก็จัดอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัจจัยเฉพาะตัวที่บั่นทอนแรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชน KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าปัจจัยฉุดรั้งการลงทุนในไทยแบ่งได้เป็นอย่างน้อย 3 ด้านหลักๆ ได้แก่

1.) ผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยอยู่ในระดับต่ำ

การตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนแน่นอนว่าปัจจัยหลักคือ ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ถึงแม้ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยโดยรวมก็ต่ำลงไปด้วยจาก (1) ตลาดในประเทศไม่โต ส่วนสำคัญมาจากโครงสร้างประชากรที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูงขึ้นจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวในหลายมิติ ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการโดยรวมเพื่อการบริโภคของคนในประเทศ รวมทั้งกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มหดตัวลง ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีแนวโน้มลดลงด้วย ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ที่ลดต่ำลงนี้ (2) สินค้าและบริการ และธุรกิจไทยไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จากการที่ไทยยังคงขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมกลุ่มเดิมๆ และเทคโนโลยีแบบเก่า ขาดศักยภาพในการแข่งขันในกลุ่มสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น (3) ต้นทุนแรงงานสูง จากทั้งจำนวนแรงงานโดยรวมที่ลดลงตามโครงสร้างประชากร และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคต ทำให้ไทยแข่งขันไม่ได้ทั้งในธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นเนื่องจากค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ธุรกิจที่ใช้เทคนิคขั้นสูงก็แข่งได้ยากเช่นกันจากการที่แรงงานทักษะสูงมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามาโดยตลอดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันด้านราคาทำได้ยากขึ้น

ทั้งหมดนี้ทำให้ผลตอบแทนและความคุ้มค่าของการลงทุนในไทยลดถอยลง และอธิบายได้ถึงการที่ต่างชาติลดการลงทุนในประเทศไทยลงทั้งในแง่การลงทุนในหุ้นและการลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต อีกทั้งบริษัทไทยเองที่มีศักยภาพก็ออกไปแสวงหาโอกาสในการลงทุนในต่างแดนมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียงอุตสาหกรรมในภาคบริการในประเทศ หรือที่เรียกว่า Non-tradeable ที่อาจไม่ถูกกระทบโดยตรงจากการแข่งขันจากต่างประเทศและจากปัจจัยด้านค่าเงินบาท จึงทำให้อัตรากำไรของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ยังคงสูงขึ้นได้

2) ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและขาดโอกาสในการลงทุน

นโยบายภาครัฐที่ผ่านมาไม่ช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนได้มากพอ จากทั้ง (1) นโยบายที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดเดิม ทำให้ขาดแรงจูงใจในการลงทุนสร้างนวัตกรรม ทั้งจากผู้เล่นรายเดิมที่ไม่จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อความอยู่รอด และผู้เล่นรายใหม่ๆ โดยเฉพาะรายเล็กที่แข่งยังไงก็แพ้ ทำให้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของไทยยังคงอยู่ห่างจากประเทศผู้นำในภูมิภาคอยู่มาก และ (2) รูปแบบการลงทุนของภาครัฐเองไม่ชักนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนได้มากนัก จากการที่ในระยะหลังการลงทุนของภาครัฐมักเป็นโครงการขนาดเล็กประเภทซ่อมสร้างที่เน้นให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วและช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ มากกว่าที่จะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจและสร้างโอกาสในการต่อยอดและขยายการลงทุนของภาคเอกชน

3.) ความไม่มีเสถียรภาพของนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองสร้างความไม่แน่นอนกับทิศทางเศรษฐกิจ

ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองจากทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและการปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง ส่งผลให้นโยบายต่างๆ ขาดความต่อเนื่อง ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของทั้งธุรกิจไทยและต่างชาติ

โดยสรุป KKP Research เห็นว่านักลงทุนต่างชาติทิ้งหุ้นไทยไม่ใช่เป็นเรื่องของภาวะตลาดระยะสั้น หรือผลกระทบชั่วคราวจาก COVID-19 เท่านั้น แต่เป็นเครื่องสะท้อนที่ชัดเจนอีกด้านหนึ่งถึงการขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ ที่สำคัญคือ ระดับการลงทุนของไทยที่ต่ำมาเป็นเวลานานและไม่กระจายตัว สร้างผลลบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในแง่ของการเติบโตในระยะยาวและความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจและแรงงาน ทำให้ประเทศไทยอ่อนล้าลงเรื่อยๆ ในด้านความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีก็จะสร้างความท้าทายรุนแรงขึ้นต่อทั้งภาครัฐและเอกชน และเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะข้างหน้า

การลงทุนที่ต่ำนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาวเติบโตอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แต่ต้นเหตุที่แท้จริงของการลงทุนต่ำนั้นสะท้อนไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในอีกหลากหลายด้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากนโยบายเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงและขาดความต่อเนื่อง สถาบันการเมืองที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมไปถึงการขาดการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกัน นโยบายภาครัฐยังขาดการเตรียมพร้อมที่จะรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะทำให้รูปแบบการบริโภคไม่เติบโตเหมือนแต่ก่อน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เริ่มที่จะก้าวเข้ามาทดแทนอุตสาหกรรมหลักที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่เพียงกดดันผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในอนาคตตกต่ำลงอย่างยาวนานหรือแม้กระทั่งถาวร ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยลงเป็นผลจากการลงทุนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน จาก (1) ผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยที่ลดลง (2) ธุรกิจขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรม (3) ความไม่มีเสถียรภาพด้านการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจ สร้างความไม่แน่นอนในทิศทางเศรษฐกิจและฉุดรั้งการตัดสินใจลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น