xs
xsm
sm
md
lg

“โรงแรม” ธุรกิจดาวร่วงปี 63 ห่วง รร.เปิดใหม่ขาดสภาพคล่อง-รายได้จ่อปิดกิจการถาวร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศรีพันวา
...ปรากฎการณ์ทัวร์จีนและการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า จนส่งผลให้การท่องเที่ยวไทยขยายตัวติด TOP3 ประเทศที่มีการขยายตัวด้านท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก “โรงแรม” จึงกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งชั่วข้ามคืน สิ่งที่ตามมาคือการลงทุนเปิดตัวโรงแรมในหัวเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น กทม. ภูเก็ต สมุย ด้วยหวังว่าจะสามารถทำกำไรจากการเข้าพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยที่นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

แต่ใครจะคาดคิดว่าในช่วงเวลาเพียงข้ามปี การท่องเที่ยวไทยจะประสบมรสุมหนักเช่นทุกวันนี้ จากการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ที่ทำเอาธุรกิจทั่วโลกทรุดหนักไปตามๆ กัน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรมอันเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ประเทศพร้อมๆ กันเกือบทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย และจากการประกาศล็อกดาวน์นี้เองธุรกิจดาวรุ่งอย่างธุรกิจโรงแรม จึงกลายมาเป็นธุรกิจดาวร่วงในทันที คำถามที่ตามมา คือ แล้วอนาคตของธุรกิจโรงแรมไทยจะเป็นอย่างไร

นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CI กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดโรงแรม ว่า ก่อนเกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 ในช่วงปลายปี 62 ตลาดโรงแรมเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีสงครามการค้า ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเงินแข็งค่า ทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ผลกระทบดังกล่าวไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 63 อย่างไรก็ตาม Booking ห้องพักในช่วง ม.ค. ถือว่าดีมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จนกระทั่งในช่วงกลางเดือน ก.พ. การระบาดไวรัส โควิด-19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดการยกเลิกการจองห้องพักจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วง มี.ค.-พ.ค. ที่มีการปิดให้บริการโรงแรมชั่วคราวตามมาตรการล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลทยอยปลดล็อกดาวน์ในเฟสที่ 4 และ 5 ทำให้กลุ่มโรงแรมต่างๆ เริ่มทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ในช่วงเดือน มิ.ย. เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยถือว่าอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมได้แล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี แต่ก็ยังไม่ได้ส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมมากนัก โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่ กทม. ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้

ขณะที่กลุ่มโรงแรมในพื้นที่รอบๆ กทม. และจังหวัดข้างเคียง ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่มาก เช่น ชะอำ หัวหิน บางแสน พัทยา ระยอง เขาใหญ่ และเขาค้อ กลายเป็นพื้นที่ที่มีการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมค่อนข้างดี อัตราการเข้าพักกลับมาขยายตัวสูง โดยเฉพาะโรงแรมที่จับกลุ่มไทยเที่ยวไทย ต่างจากโรงแรมในพื้นที่ กทม. ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ที่ยังคงเงียบเหงา เพราะพึ่งพาลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก อย่างไรก็ตามคาดว่าในระยะอันใกล้นี้กลุ่มโรงแรมในพื้นที่ สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ จะทยอยมีอัตราเข้าพักดีขึ้น หลังจากที่ผู้บริโภคคนไทยมีความเชื่อมั่นกับระบบการควบคุมดูแลด้านสุขอนามัยจากการเดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการปรับเป้าหมายกลุ่มลูกค้ามาเป็นคนไทยให้มากขึ้น

สงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
"ปัญหาที่น่ากังวลคือ โรงแรมที่พึ่งพาลูกค้าจากต่างประเทศเพียงกลุ่มเดียวและมีราคาเข้าพักค่อนข้างสูง หากไม่มีการปรับตัวจะอยู่ต่อกันอย่างไร โดยเฉพาะพนักงานและลูกจ้าง แม้ว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จะได้รับเงินจากกองทุนเลี้ยงชีพเข้ามาช่วยเหลือ แต่หลังจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี หากไม่มี หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือ กลุ่มพนักงานและลูกจ้างต่างๆ จะอยู่กันอย่างไร เพราะผลกระทบจากโควิด-19 จะยังไม่จบลงในระยะเวลาอันสั้นนี้ ตราบใดที่เรายังไม่เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้ กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่จับลูกค้าต่างชาติก็จะยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ"

นายสงกรานต์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่ยังคง ควบคุมการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ว่ากลุ่มลูกค้าต่างชาติจะเป็นลูกค้าหลัก แต่ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด- 19 ทั่วโลกยังคงอยู่ในภาวะน่าห่วง ดังนั้นการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศควรจะชะลอออกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาว เพราะหากประเทศไทยเร่งเปิดให้คนต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวได้ โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ในประเทศไทยจะเพิ่มสูงมากขึ้น และเมื่อเกิดการระบาดรอบที่ 2 ในประเทศ ผลกระทบจะรุนแรงกว่าในรอบแรกอย่างมากและหากเกิดกรณีนั้นขึ้นจริงประเทศไทยจะฟื้นตัวได้ยาก และต้องใช้ระยะเวลาอีกนานในการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ เพราะหากต้องใช้งบในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนอีกรอบประเทศไทยคงไม่มีงบประมาณมากพอ

"สูตรหรือวิธีการคิดง่ายๆ ระหว่างการเปิดประเทศรับคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวทันที กับการชะลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปอีก 1-2 เดือน ผลลัพธ์ไม่ต่างกันมากนัก เช่น ในกรณีที่เราเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาทันที แน่นอนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ 50-60% แต่ก็เสี่ยงเกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ก็สูงมาก ขณะที่การชะลอเปิดประเทศออกไปอีก 1-2 เดือน อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการฟื้นตัวกลับมาประมาณ 50% แต่ความเสี่ยงในการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 ต่ำมาก เมื่อเทียบกันระหว่างการเปิดประเทศรับท่องเที่ยวต่างชาติทันทีที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าเพียง5-10% การชะลอเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติออกไป 1-2 เดือนคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น"


นายสงกรานต์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงอีกอย่างคือ การเปิดให้บริการของผับบาร์สถานบันเทิง เพราะมีความเสี่ยงสูงมากในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โปรแกรมควบคุม เรื่องการเว้นระยะห่างในสถานที่ท่องเที่ยวประเภทนี้ควบคุมได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของโรงแรมและกลุ่มลูกค้า โดยกลุ่มโรงแรมที่มีสถานที่ตั้งอยู่รอบๆ กรุงเทพฯ จะมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยเฉพาะโรงแรมที่จัดกลุ่มลูกค้าคนไทย เช่น โรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ รอบกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นหัวหิน ชะอำ ชลบุรี พัทยา ระยอง เขาใหญ่ เขาค้อ โดยเฉพาะในช่วงนี้ นักท่องเที่ยวไทยที่ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ก็จะหันมาเที่ยวในประเทศแทน ทำให้มีอัตราการเข้าพักที่ดีกว่าโรงแรมในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางค่อนข้างมาก หรือต้องพึ่งพาการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสาร เช่น สมุย ภูเก็ต

"โรงแรมที่มีโอกาสถูกเลือกเข้าพักจากลูกค้ามากกว่าโรงแรมโดยทั่วไปคือ โรงแรมที่มีการออกแบบ Concept ที่เน้นการให้พื้นที่ในการพักผ่อนและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีความเป็นส่วนตัวสูงในการพักอาศัย เนื่องจากลูกค้ายังกังวลในเรื่องของความแออัดในการเข้าพัก และการเว้นระยะห่างในการอยู่อาศัย ดังนั้น โรงแรมที่มีห้องพักที่มีความเป็นส่วนตัวสูงจะค่อนข้างได้เปรียบโรงแรมที่มีห้องพักจำนวนมาก"

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการฟื้นตัวกลับมาของธุรกิจโรงแรมในระยะยาว รัฐบาลหรือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ควรมีการทำโปรโมชัน มีการทำโฆษณาสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะ การเลี้ยงจุดขายเนื้อเรื่องของคุณภาพด้านสุขอนามัย ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบประเทศคู่แข่งในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกัน การดูแลเรื่องค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ก็เป็นอีกเรื่องที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศครั้งนี้ต้องยอมรับว่า มีเพียงคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้กลุ่มโรงแรมที่พักต่างๆ ในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ เช่น หัวหิน ชะอำ เขาใหญ่ พัทยา มีอัตราการเข้าพักที่ดีกว่าโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ เนื่องจากกลุ่มโรงแรมในพื้นที่เหล่านี้มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ขณะที่กลุ่มโรงแรมในพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯหรือจังหวัดใกล้เคียงที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่นาน มีอัตราการเข้าพักที่ดีมากโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา โรงแรมและที่พักหลายๆ ที่ในพื้นที่จังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักเกือบ 100% โดยเฉพาะโรงแรมในโซนภาคตะวันออก เช่น บางแสน พัทยา ห้องพักในโรงแรม เต็มเกือบทุกที่ ซึ่งมีปัจจัยมาจากคนไทยต้องการคลายเครียดกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากมีการประกาศล็อกดาวน์ เมื่อรัฐบาลมีการปลดล็อกดาวน์ ทำให้มีจำนวนคนเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับโรงแรมและที่พักอาศัยต่างๆ มีการปรับลดราคาค่าเช่า และมีการจัดแคมเปญกระตุ้นทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ นับว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่นโยบายดังกล่าวอาจยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน โครงการดังกล่าวสามารถสร้างการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า โครงการ "เที่ยวปันสุข" ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวของคนไทยนั้นจะได้รับการตอบรับดี เหมือนกับโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันหรือไม่

สำหรับโครงการเที่ยวปันสุข ซึ่งรัฐบาลจะเปิดให้มีการลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนค่าห้องพักในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในประเทศนั้นอาจช่วยกันกระตุ้นธุรกิจโรงแรมได้บ้าง แต่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการใช้ไปแล้วก็หมดเลย ไม่ได้เกิดการหมุนเวียนมากเท่ากับโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันซึ่งนำเงิน 5,000 บาทที่ได้รับไปใช้จ่ายซื้อเครื่องใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบได้มากกว่า


นอกจากนี้ สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลให้ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะหลังผ่านภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งถูกวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจจะยังคงชะลอตัว หรือต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอีกค่อนข้างมาก ทำให้ผู้บริโภคยังกังวลต่อการใช้จ่าย และไม่มีแผนในการเดินทางท่องเที่ยว เพราะต้องการเก็บเงินสดไว้ แม้ว่าโรงแรมต่างๆ จะมีการจัดโปรโมชันลดค่าห้องพักสูงถึง 50% เกือบทุกโรงแรม นอกจากนี้ การโปรโมตโครงการเที่ยวปันสุข ก็ยังน้อยกว่าความน่าจะเป็น ประกอบกับความกังวลในเรื่องของ การเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อเข้าพักในโรงแรม ซึ่งมีการอยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมากก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยกลุ่ม New Normal ซึ่งมีผลให้โครงการเที่ยวปันสุข ไม่ได้รับการตอบรับดีเท่ากับในช่วงภาวะปกติ

จากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าสถานการณ์ตลาดโรงแรมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดโรงแรม ยังคงเป็นปัจจัยเดิมๆ ที่ยังจะต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี ขณะที่ปัจจัยบวกจากโครงการวิลล่า ควอรันทีน ซึ่งมีแผนจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศแบบกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งจะเดินทางเข้าประเทศไทยแบบเช่าเหมาลำ โดยจะจัดให้นักท่องเที่ยวพักที่เดียวกัน หรือโรงแรมเดียวกัน และเดินทางท่องเที่ยว เป็นกรุ๊ป เพื่อช่วยให้สามารถควบคุมเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ขณะนี้ทราบข่าวมาว่า โครงการดังกล่าวจะถูกเลื่อนออกไป ทำให้โอกาสของกลุ่มโรงแรมที่จับนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ดังนั้น โอกาสในการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมในปีนี้จึงยังไม่น่าจะเห็น และคาดว่าจะลากยาวไปถึงปี 64


ปัญหาที่จะตามมาของผู้ประกอบการโรงแรม คือ การขาดรายได้ เนื่องจากต้อง หยุดให้บริการ ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรม และการจ้างงานในธุรกิจภาคบริการ สิ่งที่น่าเป็นห่วงซึ่งจะตามมาจากนี้คือ กลุ่มโรงแรมที่มีการเปิดตัวใหม่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มโรงแรมที่เปิดใหม่นี้จะขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินสดในการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างโรงแรม เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะถูกหักไปใช้หนี้เงินกู้ พัฒนาโครงการ 80-90% ทำให้สถานการณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมเปิดใหม่แย่ลงและมีโอกาสที่จะเลิกกิจการแบบถาวร ส่วนกลุ่มโรงแรมที่มีการเปิดตัวมาแล้วมากกว่า 10 ปี ยังมีโอกาสในการฟื้นตัวได้เนื่องจากหนี้เงินกู้ได้รับการชำระไปจำนวนมากแล้ว ทำให้ภาระในการจ่ายเงินกู้และดอกเบี้ยไม่หนักมากเท่ากับกลุ่มโรงแรมที่เปิดใหม่" นายสุรเชษฐ กล่าว

ในภาวะสถานการณ์อย่างนี้ คนไทยยังไม่อยากใช้จ่ายเงินในการท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่างๆ เพราะต้องการเก็บเงินสดไว้ในมือ เนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มหลังจากจบวิกฤตโควิด-19 แต่ระยะเวลาในการฟื้นตัวในรอบนี้จะใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะวิกฤตในครั้งนี้ส่งผลให้ธุรกิจหลายตัว ต้องเลิกกิจการ เกิดจำนวนคนตกงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น เป็นเรื่องคาดการณ์ได้ยากว่า ธุรกิจโรงแรมจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปลายปีหรือในปีหน้าได้หรือไม่ ทั้งนี้ คงต้องจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 64 ว่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไรจึงจะสามารถคาดการณ์ทิศทางธุรกิจโรงแรมได้ชัดมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น