แกร็บไฟแนนซ์ปรับแผนครึ่งปีหลังรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เผยกลยุทธ์ใช้ Grab Wallet ขยายฐานสู่ภูมิภาค ปล่อยกู้ร้าน Grab Food ต่อยอดสู่ธุรกิจประกันที่เหมาะกับสมาชิก พร้อมช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยโปรแกรมพักต้น-ดอกเบี้ย ยันเอ็นพีแอลไม่น่าห่วงสำรองเต็ม 100% พอร์ตยังเล็ก
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทจะมีการปรับแผนงานใหม่เพื่อรองรับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งก็ค่อนข้างชัดเจนธุรกรรมการเงินทางด้านดิจิทัลนั้นขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา Grab Wallet เพิ่มขึ้นถึง 100% และ GrabPackages ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น 3 เท่า เนื่องจากการเดินทางออกนอกบ้านที่ลดลง ซึ่งจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นการปรับแผนของบริษัทจะเน้นไปใน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ การขยายฐานลูกค้า Grab Wallet ไปสู่ลูกค้าในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น เป็นการรองรับ Cashless Society ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยบริษัทจะเปิดให้ธนาคารอื่นๆ สามารถใช้งาน Grab Wallet ได้ เพื่อเพิ่มความคล่องต้ว โดยเป้าหมายสูงสุดในระยะยาวคือมีสัดส่วนธุรกรรมแบบไร้เงินสด 80%
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะขยายการปล่อยสินเชื่อไปยังร้านอาหารในกลุ่ม Grab Food ซึ่งมองว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กเองก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากขาดเอกสารทางการเงิน ผ่านทางแอปพลิเคชันในรูปแบบที่ปล่อยให้แก่กลุ่ม Grab Taxi ขณะที่กลุ่มเก่าที่เป็นผู้ขนส่งนั้น ก็จะมีการปรับให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยจากสำรวจพบว่า กลุ่มคนขับของแกร็บ 71% เลือกรับงานแบบพาร์ตไทม์ (Part-time) คือมีระยะเวลาในการให้บริการน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ที่เหลือออีก 29% ตั้งใจใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแกร็บเป็นช่องทางในการหารายได้หลักโดยรับงาน 8 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป โดยกลุ่มนี้รวมถึงคนขับแกร็บแท็กซี่ ซึ่งส่วนใหญ่ขับรถรับจ้างเป็นอาชีพอยู่แล้ว และการหาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมต่อบริการของแกร็บ ซึ่งขณะนี้บริษัทมีพันธมิตรในประเทศไทยได้แก่ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และซันเดย์ โดยทั้ง 3 ด้านดังกล่าวจะเริ่มภายในไตรมาส 3 ปีนี้
"การปรับแผนในขณะนี้เราดูกันเดือนต่อเดือน ยังไม่สามารถทำแผนในระยะยาวมากได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างโควิด-19 ระลอกสองก็ยังพูดไม่ได้ว่าจะเกิดหรือไม่ แต่ปัจจุบันสิ่งที่เห็นก็คือ Demand ในประเทศเริ่มมา แต่ยังไม่มี Demand จากต่างประเทศ เพราะกว่าท่องเที่ยวจะฟื้นคงอีกนาน ขณะเดียวกันกลุ่มคนขับ 2 ล้อกระทบแค่เดือนแรกของการปิด หลังจากนั้นฟื้นรายได้กลับมาเท่าหรือมากกว่าเดิมแล้ว ขณะที่กลุ่มรถ 4 ล้อยังกลับมาไม่ได้มากนัก เพราะภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น ก็ต้องดูแลกันต่อไป แผนก็ต้องรีวิวกันทุกเดือนเพื่อให้รับต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเร็วเช่นกัน"
ด้านการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัทนั้น ที่ผ่านมา ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนให้แก่พาร์ตเนอร์ที่ได้รับผลกระทบกว่า 20,000 คน ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มที่เป็นรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยปัจจุบันในกลุ่มจักรยานยนต์กลับมามีรายได้ในระดับเดิมหรือมากกว่าเดิมคือเท่ากับเดือนมกราคมแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 70% ส่วนที่เหลืออีก 40% ก็จะต้องรอหมดโปรแกรมในเดือนสิงหาคมก็จะพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้อีกครั้ง หากยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็จะนำมาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ยอดการผ่อนจ่ายสมดุลกับรายได้ที่กล้บเข้ามา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนั้น บริษัทได้กันสำรองไว้เกือบเต็มจำนวน และหากมีการกลับผ่อนชำระก็จะโอนกลับเข้ามาเป็นรายได้ของบริษัทต่อไป ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น คงต้องรอประเมินหลังจากหมดโครงการพักเงินต้น-ดอกเบี้ยก่อน
นายวรฉัตร กล่าวอีกว่า เป้าหมายสินเชื่อใหม่ที่บริษัทวางไว้ในปี 2563 ที่ 3,000 ล้านบาทนั้น คงจะหายไปประมาณ 20-30% เนื่องจากในไตรมาส 2 มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นน้อยมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องระมัดระวัง แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังตัวเลขน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ขณะที่แนวโน้ม NPL ที่อาจจะเพิ่มขึ้นหลังจากหมดโปรแกรมพักเงินต้น-ดอกเบี้ยหมดลงนั้น มีความเป็นไปได้ แต่บริษัทได้ตั้งสำรองในส่วนที่เข้ามาตรการไว้ครบแล้ว และขนาดของพอร์ตยังไม่ใหญ่นัก และกลุ่มผู้กู้ส่วนใหญ่กลับมาชำระหนี้ตามปกติแล้วจึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก