xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดี กสส.เผยสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟเริ่มมีสภาพคล่อง ย้ำเรียกปล่อยกู้คืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟเริ่มมีสภาพคล่องเพิ่ม หลังเอ็มโอยูกับ เจ้าหนี้ กำชับ กก.สหกรณ์ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนเรียกเงินคืนจากกรรมการชุดที่ 7-11 ที่ปล่อยกู้นับพันล้าน

วันนี้ (8 ก.ค.) นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) กล่าวว่า กรมได้มีการกำกับติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ (สอ.สรฟ.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ในการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อกรรมการสหกรณ์ในชุด 7 ถึง 11 ทั้งแพ่งและอาญา

กรณีของ สอ.สรฟ.นี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้ออกระเบียบว่าด้วยการให้กู้เงินให้แก่สมาชิก โดยกำหนดระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้พิเศษ เมื่อ 24 มกราคม 2554 มีการกำหนดวงเงินการให้กู้ยืมต่อรายค่อนข้างจะสูงมากและระยะการส่งชำระค่อนข้างนาน ซึ่ง สอ.สรฟ.ได้ส่งสำเนาระเบียบเงินกู้ให้กรมทราบ เมื่อ 11 ก.พ. 2554 โดยขณะนั้นทางกรมได้ให้ข้อสังเกตและมีคำแนะนำให้ระวังในเรื่องการปล่อยกู้ที่อาจกระทบสภาพคล่องของสหกรณ์ แต่ สอ.สรฟ.ก็ยังยืนยันในการใช้ระเบียบดังกล่าวต่อไป

ต่อมาเมื่อ 21 ก.ย. 2559 ผู้ตรวจการสหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจสอบพบว่า กรรมการบริหาร สอ.สรฟ.ได้ออกเงินกู้ให้แก่สมาชิกจำนวน 6 ราย 199 สัญญา วงเงิน 2,279 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยมิชอบด้วยระเบียบดังกล่าว วันที่ 21 พ.ย. 2559 นายทะเบียนสหกรณ์จึงออกคำสั่งให้คณะกรรมการฯ แก้ไขข้อบกพร่องในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยสั่งให้ระงับการจ่ายเงินกู้พิเศษ จนกระทั่งไปสู่การมีคำสั่งปลดคณะกรรมการฯ ชุดที่ทำให้ สอ.สรฟ.เสียหายทั้งคณะ พร้อมกับแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวเข้าไปบริหารงานแทนคณะกรรมการชุดที่ถูกปลด และต่อมาที่ประชุมใหญ่ของ สอ.สรฟ.ได้มีการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ คือ ชุดที่ 13 และชุดที่ 14 ขึ้นมาเพื่อบริหารสหกรณ์ จนนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวทั้งทางแพ่งและอาญา

นอกจากนี้ กสส.ได้ประสานให้ สอ.สรฟ.ทำข้อตกลงกับสหกรณ์เจ้าหนี้ทั้ง 14 แห่ง โดยได้ปรับงวดการชำระหนี้กันใหม่ เพื่อให้ สอ.สรฟ.มีสภาพคล่องเหลือ สามารถดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง สามารถให้บริการสมาชิกและมีเงินที่จะชำระคืนเจ้าหนี้ ให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ แสดงให้เห็นว่า กสส.ได้มีการติดตามเพื่อแก้ไขปัญหา สอ.สรฟ.อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทำให้ปัจจุบันสหกรณ์ สอ.สรฟ.มีสภาพคล่องจากรายรับทุนเรือนหุ้น และการชำระหนี้เงินกู้ของสมาชิกและดอกเบี้ยเดือน ณ เดือน พ.ค. 2563 ประมาณ 45-48 ล้านบาท และมีภาระชำหนี้ให้กับเจ้าหนี้เดือนละ 42-45 ล้านบาท คงเหลือเงินต่อเดือน 2-3 ล้านบาท สามารถจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่ขอถอนได้

นอกจากนี้ กรมยังได้ติดตามผลกระทบต่อสหกรณ์เจ้าหนี้ 15 แห่งด้วย พบว่า ณ พ.ค. 2563 สหกรณ์เจ้าหนี้ที่มีทั้งการให้เงินกู้ยืมและฝากเงินกับ สอ.สรฟ. ปรากฏว่าทุกสหกรณ์มีผลกำไรสามารถจ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกได้ ซึ่งมีทั้งอัตราสูงกว่าหรือเท่ากับปีที่ผ่านมาจำนวน 8 สหกรณ์ และต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 7 สหกรณ์ และได้มีการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้รับชำระหนี้ โดยตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และหรือทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผล หรือทุนสำรองความเสี่ยงจำนวน 9 สหกรณ์ และไม่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 6 สหกรณ์ เนื่องจากยังได้รับการชำระหนี้อยู่ จะเห็นได้ว่าสหกรณ์เจ้าหนี้ยังคงไม่ได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินแต่อย่างใด

ส่วนกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมามีปัญหาสะสมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดความเสี่ยงในการบริหารงานของคณะกรรมการ และรักษาประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ กรมจึงแก้ไขพรบ.สหกรณ์ 2542 โดยมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 เพื่อให้มีอำนาจในการเข้าไปกำกับการบริหารงานของคณะกรรมการสหกรณ์ได้มากขึ้น และมีการเพิ่มเติมว่าด้วยการกำกับความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน ซึ่งขณะนี้กรม.ได้เสนอร่างกฎกระทรวงในการออกเกณฑ์กำกับ จำนวน 12 เรื่อง และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการในเบื้องต้นไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจร่าง เพื่อนำไปสู่ในการออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้ต่อไป

นอกจากนั้น ในส่วนของนายทะเบียนสหกรณ์เองนั้น เพื่อให้มีการทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงได้มีการออกเกณฑ์กำกับให้นายทะเบียนสหกรณ์ต้องทำหน้าที่ด้วยเช่นกัน และรวมถึงได้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับการทำงานของผู้ที่ทำหน้าที่นายทะเบียนสหกรณ์ในจังหวัดต่างๆ โดยให้รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นประธาน เพื่อติดตามการทำงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งหากปัญหาใดเกินศักยภาพจังหวัด ทางส่วนกลางจะเข้าไปช่วยแก้ไขในทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น