ธนาคารยูโอบี เผยผลสำรวจ "ASEAN SME Transformation Study 2020" ชี้ธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคอาเซียนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการดำเนินธุรกิจช่วงสถานการณ์โควิด-19 กว่า 2 ใน 3 ของเอสเอ็มอี (64%) ให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับแรกในปีนี้
ธนาคารยูโอบี (UOB) ร่วมกับแอคเซนเจอร์ (Accenture) และดันแอนด์แบรดสตรีท (Dun & Bradstreet) สำรวจความคิดเห็นของธุรกิจเอสเอ็มอีในอาเซียนกว่า 1,000 ราย เพื่อทำความเข้าใจว่าธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวอย่างไรต่อสภาพการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยเอสเอ็มอีในประเทศไทยมองว่าต้องการลงทุนในเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 71% รองลงมาคืออินโดนีเซีย 65% เวียดนาม 63% สิงคโปร์ 60% และมาเลเซีย 59%
นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าธุรกิจเอสเอ็มอียังพยายามที่จะลงทุนในด้านเทคโนโลยี แม้ว่ารายได้จากธุรกิจจะลดลงก็ตาม ซึ่ง 9 ใน 10 หรือ 88% คาดการณ์ว่ารายได้ในปี 2563 จะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังวางแผนเพิ่มงบประมาณด้านเทคโนโลยี ซึ่งนั่นหมายความว่าเอสเอ็มอีกำลังมองข้ามความท้าทายในปัจจุบัน และพร้อมจะปรับใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
นายลอเรนซ์ โล ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นั้น ทำให้ธุรกิจเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีมากขึ้น การดำเนินธุรกิจที่ต้องหยุดชะงักตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้หลายบริษัทตระหนักอย่างรวดเร็วว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีในการช่วยปรับโมเดลธุรกิจหรือเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ หากมองในภาคธุรกิจแล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการลงทุนในด้านเทคโนโลยีมากที่สุด คือธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เทคโนโลยีสารสนเทศ และสุขภาพ (50%) ธุรกิจก่อสร้าง (48%) และธุรกิจค้าปลีก (46%) ตามลำดับ
"ยูโอบีได้ทำการติดต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยเหลือในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้ นอกจากการสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว เรายังช่วยเอสเอ็มอีในเรื่องการปรับใช้ดิจิทัลโซลูชันเพื่อช่วยลูกค้าจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์ที่ได้รับผลกระทบมาก เราได้ช่วยให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนช่องทางการขายจากหน้าร้านมาเป็นสู่ออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เราร่วมมือกับกูเกิล เพื่อช่วยให้ธุรกิจใช้เครื่องมือดิจิทัล อย่างเช่น Google My Business และสร้างโปรไฟล์ร้านค้าออนไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น เป็นต้น"
และนอกจากเทคโนโลยีแล้ว 51% ของธุรกิจเอสเอ็มอีในอาเซียนต้องการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะพนักงาน และ 40% ต้องการลงทุนในการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในขณะที่การลงทุนที่ธุรกิจเอสเอ็มอีให้ความสำคัญน้อยที่สุดคือการจัดซื้อยานพาหนะอยู่ที่ 18%
นายดิฟเยช วิธลานี หัวหน้าฝ่ายธุรกิจบริการทางการเงิน แอคเซนเจอร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ขณะที่ธุรกิจรายย่อยกำลังเตรียมเปิดดำเนินงาน และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้จะช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวได้เร็ว การลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีของเอสเอ็มอีนี้สำคัญมาก เพราะเอสเอ็มอีคือรากฐานทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ถ้าหากเอสเอ็มอีฟื้นตัวได้เร็วหลังวิกฤตก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนฟื้นตัวเร็วตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จาก 8 ใน 10 หรือ 81% ของเอสเอ็มอีทั่วทั้งอาเซียนเลือกใช้ดิจิทัลโซลูชันเพื่อบริหารจัดการงินสด เช่น UOB BizSmart ที่ช่วยออกใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์และบันทึกรายการกระทบยอดได้รวดเร็ว
"ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของภูมิภาคอาเซียนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านประชากรและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ธุรกิจรายย่อยกำลังต้องเผชิญต่อความท้าทายอย่างหนัก เราเห็นว่าผู้ประกอบการได้ทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ธุรกิจยังยืนอยู่ได้ โดยพบว่า 75% ของเอสเอ็มอีในอาเซียนเลือกที่จะพักชำระหนี้เพื่อช่วยลดภาระเรื่องกระแสเงินสด และต่อรองระยะเวลาชำระเงินกับคู่ค้าหรือผู้ให้เช่า และ 73% ต้องการเพิ่มทุนผ่านโปรแกรมความช่วยเหลือด้านการเงินในช่วงโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนโมเดลได้ทันท่วงทีจะทำให้ฝ่าฟันวิกฤตไปได้และยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย"