บล.เอเซีย พลัสแนะจับตา NPL ปีหน้าอาจพุ่งหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ แต่ระบุ NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่ถึงจุดสูงสุด เหตุตัวเลขความเสียหายยังไม่ชัดเจน และยังมีลูกหนี้ยื่นลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการรัฐต่อเนื่อง ด้าน KBANK เผยล่าสุดช่วยลูกค้าพักหนี้ วงเงินกว่า 8.28 แสนล้านบาทแล้ว เชื่อหลังหมดมาตรการฯ ลูกหนี้ยังมีความสามารถชำระหนี้คืน 60%
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ "Loan payment holiday VS การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย" ระบุว่า ข้อมูล ณ 15 มิ.ย. 63 พบว่าจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ (ไม่ต้องจัดชั้นลูกหนี้เป็น NPL หรือ Stage 2) หรือ loan payment holiday เฟส 1 (สิ้นสุด 30 ก.ย. 63) ของแต่ละธนาคาร อยู่ที่ราว 6.7 ล้านล้านบาท (สัดส่วน 40% ของสินเชื่อทั้งระบบ) เพิ่มขึ้น 12% จากข้อมูล ณ 15 พ.ค. 63
แบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยราว 3.77 ล้านล้านบาท เพิ่ม 6.5% MoM (สินเชื่อบ้านสัดส่วน 41% ของสินเชื่อรายย่อย, สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด 35% และเช่าซื้อ 17% ฯลฯ) ตามด้วยสินเชื่อ SME ราว 2.21 ล้านบาท สูงขึ้น 20% MoM และ 0.77 ล้านล้านบาท เพิ่ม 22% MoM
ทั้งนี้ เพื่อรองรับสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ทำให้ธนคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดมาตรการช่วยเหลือระยะ 2 ให้แก่ลูกหนี้รายย่อย เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ก.ค. 63-31 ธ.ค. 63
ห่วงเอ็นพีแอลพุ่ง หลังหมดมาตรการช่วยเหลือในปี 64
เอเซีย พลัสระบุว่า ภาพรวมถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามหลังผ่อนปรน lock down ถึงอัตราการกลับมาชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มที่เข้าร่วมมาตรการจะอยู่ในอัตราเท่าใด ในกรณีที่การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนหรือภาคธุรกิจฟื้นตัวช้า อาจทำให้ปัญหา NPL กลับมาหลังช่วงหมดมาตรการช่วยเหลือ (ตั้งแต่ 1Q64) จากระดับ NPL ณ สิ้นงวด 1Q63 ที่ 3.4% ทำให้ในช่วงที่เหลือของปีในระหว่างที่ยังไม่เห็นตัวเลข NPL หากธนาคารยังไม่มีการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ทำให้งบการเงินของกลุ่มฯ ยังไม่สะท้อนความจริงที่มีโอกาสเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ ( ธ.พ.) ในไทยปัจจุบันถือว่าแข็งแกร่งกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ระดับ NPL เคยขึ้นทำจุดสูงสุดราว 47% ในช่วง มิ.ย. 42 ก่อนจะเริ่มลดลงอย่างมีนัยฯ ตั้งแต่ ธ.ค. 42 พิจารณาจากเงินกองทุนทั้งระบบช่วง เม.ย.ที่ราว 2.9 ล้านล้านบาท (CAR ที่ 19%) เทียบกับช่วงวิกฤตที่เงินกองทุนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 5.4 แสนล้านบาท (CAR 12%)
ทั้งนี้ แนะนำ คงน้ำหนักน้อยกว่าตลาด มอง NPL ยังไม่ผ่านจุดสูงสุดและความเสียหายยังไม่ชัดเจน สาเหตุจาก Loan payment holiday ที่จำนวนผู้เข้าร่วมยังมีสัญญาณของการเพิ่มขึ้น
KBANK ช่วยลูกค้าพักหนี้แล้วกว่า 8 แสนล้านบาท มั่นใจได้หนี้คืน 60%
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารเดินหน้าช่วยลูกค้าโดยพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ยลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ 650,000 ราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 828,000 ล้านบาท และให้เงินทุนเพิ่มเสริมสภาพคล่อง 94,000 ราย วงเงิน 156,000 ล้านบาท และช่วยให้ธุรกิจรักษาการจ้างงาน ภายใต้โครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” และสินเชื่อ 0% ช่วยลูกค้าวงเงิน 1,144 ล้านบาท รักษาการจ้างพนักงาน 49,000 ราย
ทั้งนี้ ประเมินว่าหลังหมดมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายของรัฐ ลูกค้าจะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้เพียง 60% ในขณะที่อีก 40% อาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้คืนได้ตามปกติ โดยธนาคารจะคอยติดตาม ทั้งนี้การประเมินตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ลูกค้าธุรกิจของธนาคารมียอดรวมเงินฝากอยู่ที่ 934,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลูกค้าบางส่วนยังมีกำลังพอที่จะชำระหนี้หลังครบกำหนดพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารพร้อมให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม
"เราเป็นธนาคาร รายได้ กำไร มาจากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม พอเราต้องช่วยเหลือลูกค้า แน่นอนว่ารายได้ กำไร ต้องลดลง ทำให้ที่ผ่านมาหุ้น KBANK ถูกเทขาย เพราะเขากังวลว่าเราแย่ และ ยังไม่จ่ายปันผลอีก แต่อยากให้มอง และสบายใจได้ว่ายอดพักหนี้แม้จะดูสูง แต่คงไม่เสียทั้งหมด เรามีหลักประกัน หรือ LTV ประมาณ 81% ทั้งที่จริงเราไม่ได้อยากยึดหลักประกัน เพราะยึดมาแล้วจะขายอย่างไร" นายพัชรกล่าว
ส่วนการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือลูกค้าระยะที่ 2 ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงเป็นการขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปเช่นเดิม แต่จะเพิ่มวงเงินหรือไม่นั้นต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งต้องการให้ลูกค้าเข้ามาเจรจากับธนาคาร และเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง เพราะวินัยทางการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
สำหรับแผนธุรกิจในครึ่งปีหลังยังต้องเดินหน้าบริหารต้นทุนให้เหมาะสม บริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับคุณภาพสินทรัพย์ เพื่อส่งต่อถึงผลประกอบการของธนาคารให้ดีขึ้น