xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์แห่ยกระดับดิจิทัล รับคลายล็อกโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แบงก์พาเหรดอัพและปรับระดับโมบายแบงก์กิ้ง รับการเติบโตรวดเร็ว ในสภาวะไวรัสโควิด-19 ระบาด แถมมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐหนุนการค้าออนไลน์คึก รับการใช้ชีวิตแบบใหม่เป็นไปอย่างอัตโนมัติ SCB เตรียมออกฟีเจอร์ใหม่อีก 3 ฟีเจอร์ในการเก็บเงินเพื่อตอบโจทย์ New Normal ที่คนเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและใช้เวลามากขึ้นกับสตรีมมิ่งออนไลน์ ส่วน BBL ปรับโฉมโมบายแบงก์กิ้ง เพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานของลูกค้า สามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น

จากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกระทั่งนำไปสู่การล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน หลายภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงธนาคารพาณิชย์ที่โดนภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจหลักอย่างการปล่อยสินเชื่อซบเซา

อย่างไรก็ตาม อีกด้าน แต่การล็อกดาวน์ส่งผลให้ธุรกรรมทางธุรกิจกลุ่มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้าออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้ธุรกรรมการโอนเงิน และการชำระเงินออนไลน์พุ่งสูงขึ้นมากในช่วงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งที่รวดเร็วกว่าเดิมจากสถานการณ์โควิด-19ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หลาย ๆ แห่งต้องเร่งยกระดับโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อรองรับการแข่งขันอย่างดุเดือดในระลอก 2หลังโควิดฯคลี่คลาย

SCB รุกคืบฟู้ดเดลิเวอรี่


นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์โควิด 19 ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเมื่อเกิดการล็อกดาวน์ ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวก็ทำให้เกิดกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเห็นการค้าปลีก ร้านอาหาร หรือดิจิทัลแบงก์กิ้ง และเชื่อว่าไม่น่าจะลดลงแม้ว่าจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว ซึ่งธนาคารเองก็เห็นถึงแนวโน้มดังกล่าว จึงใช้ห้วงเวลาดังกล่าวมาเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผ่านยุทธศาสตร์ “SCB New Normal”
จากรากฐานที่แข็งแรงจากการทำ Digital Transformation

ภายใต้กลยุทธดังกล่าวธนาคารได้คิด long-term solution ด้วยการผนึกความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับวิถีองค์กรรูปแบบใหม่เพื่อช่วยเหลือลูกค้า ด้วยการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ภายใต้ชื่อ “Robinhood” หรือโรบินฮู้ด แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย โดยไม่เก็บค่าจีพี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งค่าจีพีนับเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบัน

"ผมคิดเรื่อง Robinhood นี้ตอนที่ต้อง Work from Home แล้วก็ต้องสั่งอาหารมาที่บ้าน ซึ่งก็รู้สึกว่าราคารวมค่าอื่นๆแล้วมันค่อนข้างสูง ก็อยากจะทำอะไรที่ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับร้านค้า และลูกค้าเองก็จะได้อาหารอาจจะคุณภาพดีขึ้นหรือมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพราะร้านค้าไม่ต้องเสียค่าจีพี ซึ่งเราใช้เวลาทำเพียง 3 เดือน และหวังว่า Robinhood จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป"


โดยมีภารกิจแรก คือ การเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย มุ่งมั่นตั้งใจให้เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่าจีพีสำหรับร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ โดยพร้อมเปิดให้บริการได้ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีร้านอาหารร่วมในแพลตฟอร์มประมาณ 40,000-50,000 รายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ภายใต้ชื่อ “Robinhood” จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนต่อปีประมาณหนึ่งร้อยล้านบาท เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย มุ่งมั่นตั้งใจให้เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่าจีพีสำหรับร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ โดยพร้อมเปิดให้บริการได้ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีร้านอาหารร่วมในแพลตฟอร์มประมาณ 40,000-50,000 รายในสิ้นปีนี้

นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า “ เรารู้ว่าการแข่งขันตรงนี้สูงมาก แต่ก็ไม่ได้ออกมาเพื่อจะแข่ง และเราก็ได้คุยกับพันธมิตรอย่าง GET ที่เคยเซ็นสัญญาไปก็เป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้พนักงานเท่านั้น แต่อันนี้เป็นการนำเสนอในอีกทางเลือกที่จะได้รับประโยชน์ทั้งร้านค้า ผู้ขนส่ง และผู้สั่ง โดยใช้เงินลงทุนไปกว่า100 ล้านบาท และร่วมมือกับบริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด (skootar) ที่ให้บริการแมสเซ็นเจอร์ออนไลน์ ในด้านผู้ส่งสินค้า ซึ่งหากเราสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า มีแพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะขยายวงออกไปสู่อย่างอื่นนอกจากกลุ่มอาหาร รวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ได้ อย่างผู้ประกอบการร้านค้าก็จะเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจากให้ผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย น่าจะทำให้เรามีที่ยืนในธุรกิจนี้ได้บ้าง ”


เปิดตัว @KhunThong เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่


นอกจากนี้ ยังเปิดตัว "โซเชียล แชทบอท" (Social Chatbot)nใช้งานใน LINE ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแชทที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 45 ล้านคนในปัจจุบัน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชอบรวมกลุ่มตั้งกรุ๊ป LINE เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กินข้าว เก็บเงินเที่ยว เป็นต้น โดยมีแนวคิดการพัฒนา “ขุนทอง” ใน 3 ด้าน คือ 1) เป็นเหรัญญิกที่เก่งในการบริหารจัดการเรื่องเงินทองในกลุ่มเพื่อน 2) พัฒนาฟีเจอร์ใช้งานที่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายในกลุ่มเพื่อน เช่น หารค่าข้าว เก็บเงินทริปเที่ยว แชร์เงินกองกลาง เป็นต้น และ3) เป็น Cashless Payment ทำให้การจ่ายเงินง่าย สะดวกและรวดเร็ว ลดการจับต้องเงินสด ไม่ต้องสลับแอปฯ และสามารถจ่ายผ่านพร้อมเพย์ (PromptPay) พร้อมทั้งสามารถยืนยันการจ่ายโดยอ่าน e-slip ที่มีคิวอาร์โค้ดจากโมบาย แบงกิ้งของธนาคารชั้นนำอื่น ๆ ได้

ทั้งนี้ ขุนทอง "เหรัญญิกพันธุ์ใหม่ เก็บเก่ง" มีฟังก์ชั่นทำงานบน LINE แค่กด @KhunThong ขุนทองจะเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่พูดคุยและช่วยจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ในกลุ่มเพื่อน เก็บถูก เก็บครบ เก็บเก่ง และจบเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการหารบิลแบบแฟร์ๆ เรียกเก็บเงินได้ง่ายเพียงพิมพ์ ขุนทอง และอัพรูปใบเสร็จเข้ากลุ่มแชท ให้แต่ละคนคลิกว่า กินอะไรไปบ้าง หารบิลกันแบบแฟร์ ๆ กินมากกินน้อยจ่ายตามจริง หรือจะหารเท่า ๆ กันก็แล้วแต่ตกลงกัน ขุนทองจัดให้ได้ทั้งนั้น พร้อมทั้งปิดดีลบิลครบยกแก๊งค์ ใครยังไม่จ่าย จ่ายไม่ครบ ขุนทองจะเกาะติดแจ้งจนกว่าจะจ่ายกันครบ

โดยสามารถเลือกวิธีจ่ายบิลได้ถึง 4 วิธีตามสะดวก คือ ผูกบัญชี K PLUS กับขุนทอง ข้อดี คือกดจ่ายเงินได้เลย ไม่ต้องสลับหน้าจอแอปพลิเคชัน หรือการจ่ายด้วย K PLUS ขุนทองจะพาไปยังหน้าจอ K PLUS พร้อมใส่เลขบัญชีและจำนวนเงินให้ ผู้จ่ายแค่ตรวจสอบความถูกต้องและกดยืนยันการจ่าย หรือจ่ายด้วยโมบายแบงกิ้งอื่น และส่ง e-Slip ที่มีคิวอาร์โค้ดเข้ากลุ่มแชท ซึ่งขุนทองจะตรวจสอบความถูกต้องรายละเอียดการโอนเงิน ทั้งบัญชีผู้รับเงินและจำนวนเงินจากคิวอาร์โค้ด และจ่ายด้วยเงินสด ขุนทองจะบันทึกการจ่ายให้เมื่อเจ้าของบิลกดยืนยันว่าได้รับเงินแล้ว

"ขุนทองจะโต้ตอบเฉพาะประโยคที่มีคำสั่งเรียกเก็บเงิน เช่น “เก็บเงิน” หรือ “ขุนทอง” เท่านั้น มาตรฐานความปลอดภัยของขุนทองเป็นมาตรฐานสูงสุดเช่นเดียวกับธนาคาร และธนาคารไม่มีนโยบายในการเก็บข้อมูลสนทนาในกลุ่มที่ใช้งานขุนทอง การทำงานทั้งหมดของขุนทองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของข้อมูล นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวภายในแอปพลิเคชัน LINE ได้อีกด้วย โดยธนาคารตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งานมากกว่า 600,000 คนภายในสิ้นปีนี้"

และเร็วๆนี้ "ขุนทอง" เตรียมออกฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเติมอีก 3 ฟีเจอร์ในการเก็บเงินเพื่อตอบโจทย์ New Normal ที่คนเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวกัน และใช้เวลามากขึ้นกับสตรีมมิ่งออนไลน์ต่าง ๆ ได้แก่ เก็บรายเดือน (Scheduled Bill) บิลค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ต้องเอามาหารกัน เช่น สตรีมมิ่งออนไลน์ Netflix ที่แชร์ดูและแชร์จ่ายกันได้ ขุนทองจะแจ้งเตือนและตามเก็บเงินจนครบ จ่ายบิลได้ตรงตามเวลา

เก็บหลายบิล (Multiple Bills) เก็บค่าทริป หลายคน หลายบิล ทริปยาว ทริปสั้น ไม่ต้องยุ่งยากวุ่นวายเพราะขุนทองพร้อมเสมอที่จะช่วยจัดการบรรดาบิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทริป ขุนทองสามารถช่วยหารบิลทั้งหมดและเก็บเงินได้ในทีเดียว และเก็บเงินกลุ่ม (Social Wallet) อยากจะเก็บเงินกลุ่มเอาไว้เป็นกองกลางเพื่อไปใช้กินเที่ยว ขุนทองยินดีช่วยตามเก็บเงินให้ได้ครบทุกคน ได้เงินครบตามจำนวนที่ต้องการ ไม่ต้องมีใครออกไปก่อน

BBL ปรับโฉมโมบายแบงก์กิ้ง


นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL)กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับโฉมโมบายแบงก์กิ้งใหม่เป็น Bangkok Bank Mobile Banking เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานของลูกค้า สามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น ในหลากหลายมิติ ทั้งดีไซน์ใหม่ทันสมัย และตอบโจทย์การใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มกราฟแสดงความเปลี่ยนแปลงในหน้าการลงทุนให้เห็นชัดเจนและเข้าใจง่าย การเข้าถึงฟังก์ชันที่ต้องการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ผ่านเมนูลัดในหน้าแรก รวมถึงโอนเงินสะดวก ลดความผิดพลาด ด้วย Copy & Paste เลขบัญชี ไม่ต้องจำ ไม่ต้องจด รวมถึงเรียกดูเลขบัญชีครบทุกหลักได้ในคลิกเดียว สามารถจัดการทุกอย่างได้ง่ายในแอปฯ ไม่ว่าจะเพิ่ม-ลบ-จัดระเบียบบัญชีปลายทาง เรียกดูรายการย้อนหลังเป็นรายเดือน ทั้งยังรวมรายการที่ใช้งานบ่อยไว้ด้วยกัน และจ่ายบิลง่าย สแกนได้ตั้งแต่หน้าแรก สามารถชำระเงินได้รวดเร็วใน 5 วินาที หรือกดแค่ 2 คลิกเท่านั้น หากจะค้นหารายการผู้รับชำระก็ง่าย ด้วยระบบการจัดหมวดหมู่ใหม่ พร้อมรายการบิลยอดนิยม รวมถึงโชว์ภาพโลโก้ที่ช่วยให้ค้นหาง่ายขึ้น และยังอุ่นใจได้เรื่องความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล พร้อมระบบป้องกันกรณีอุปกรณ์ที่มีระบบปฏิบัติการ (Operating System) ที่ล้าสมัย รวมถึงอุปกรณ์ที่ถูกดัดแปลง (Rooted หรือ Jailbroken) จะไม่สามารถเข้าใช้งานแอปพลิเคชันได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับข้อมูลของลูกค้า

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ใช้งาน Bualuang mBanking เริ่มอัพเดทแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ และจะสามารถอัพเดทได้ครบทุกคน ภายใน 2 สัปดาห์

"Bangkok Bank Mobile Banking เวอร์ชั่นใหม่ จะสอดรับกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ New Normal ซึ่งเป็นสังคมที่ผู้คนมีความคุ้นชินกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันผ่านระบบออนไลน์ และเริ่มมีพฤติกรรม​ Mobile First อย่างชัดเจน โดยข้อมูลช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้าอย่างชัดเจน ตัวเลขผู้ใช้งาน Mobile Banking ของธนาคารเติบโตขึ้นประมาณ 28% ขณะเดียวกันปริมาณธุรกรรมการโอนเงินและการจ่ายบิลผ่าน Mobile Banking ก็เติบโตขึ้นถึง 51% และ 47% ตามลำดับ"

พร้อมกันนั้น ธนาคารก็อยู่ระหว่างการพัฒนาบริการใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น การเปิดบัญชีผ่านออนไลน์โดยยืนยันตัวตนผ่านระบบ National Digital ID Platform ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. แล้ว โดยทั้งหมดนี้มีหน่วยงานไอทีดูแลเรื่องระบบการทำธุรกรรมการเงินโดยเฉพาะ พร้อมมีแผนเชิงปฏิบัติและทำการทดสอบระบบ เพื่อให้การทำธุรกรรมไม่สะดุด โดยเชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้จะมียอดผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านรายได้ตามเป้าหมาย จากปัจจุบันอยู่ที่ 8.6 ล้านราย








กำลังโหลดความคิดเห็น