สรรพากรลงนาม 130 ประเทศร่วมต้านการเลี่ยงภาษีข้ามชาติ เตรียมเสนอร่างความตกลง MAC ที่ได้ลงนามแล้วเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับต่อไป หวังช่วยสรรพากรมีข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมและความเสี่ยงทางภาษีของผู้ประกอบการข้ามชาติ หนุนการใช้บังคับกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีต่างๆ เช่น กฎหมาย e-Service
ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงแบบพหุภาคี Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters หรือ MAC กับกว่า 130 ประเทศ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสทางภาษี สร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดเก็บภาษี และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเต็มเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมพิธีลงนาม
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “MAC นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยจัดเก็บภาษีทั่วโลกบูรณาการความร่วมมือกันตามกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และกลุ่ม G20 เรื่อง Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และกรอบความร่วมมือ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) ที่กำหนดมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศทุกรูปแบบ เพื่อให้หน่วยจัดเก็บภาษีได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลที่ผ่านช่องทางการแลกเปลี่ยนภายใต้ความตกลง MAC
ทั้งนี้ การเข้าร่วม MAC ของประเทศไทยเป็นการขยายเครือข่ายคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีจากเดิม 60 คู่สัญญาภายใต้ความตกลงแบบทวิภาคี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement : DTA) เป็นกว่า 130 ประเทศภายใต้ความตกลง MAC และแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาประเทศ
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างนำร่างความตกลง MAC ที่ได้ลงนามแล้วเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับต่อไป โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้ความตกลง MAC จะส่งผลให้กรมสรรพากรมีข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความเสี่ยงทางภาษีของผู้ประกอบการข้ามชาติ สนับสนุนการใช้บังคับกฎหมายของกรมสรรพากรในการส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เช่น กฎหมาย e-Service ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ และขยายฐานภาษีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ