xs
xsm
sm
md
lg

CPALL เร่งฟื้นยอดขาย โควิดซาเดินหน้าลงทุน-เปิดสาขาเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซีพีออลล์ เดินหน้าขยายสาขา-ปรับปรุงร้านและพัฒนาระบบไอที พร้อมรุกธุรกิจใหม่ ด้วยงบกว่าหมื่นล้านบาท หวังดันยอดขายฟื้น หลังไตรมาสแรกรับผลกระทบโควิด-19 ทุบผลงานซบและอาจลากยาวถึงไตรมาส 2 กระทบแผนการลงทุนและเปิดสาขาต่างประเทศล่าช้า รอสถานการณ์คลี่คลายชัด คาดรัฐปลดล็อกดาวน์กระตุ้นการใช้จ่ายคึก โบรกฯ แนะลงทุน CPALL ชี้ราคาเป้าหมาย 79-82 บาท เชื่อยังแกร่ง รับผลจากจาก MAKRO และการเปิดสาขาในต่างประเทศแถมรัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มั่นใจยอดขายฟื้นไตรมาส 3

การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การระบาดในแต่ละระยะ และที่ชัดเจนสุดคือผู้บริโภคมีความต้องการกักตุนสินค้าจำเป็นพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อรัฐออกมาตรก่ารปิดเมือง จำกัดการเดินทาง ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์คาดการณ์มูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2020 จะหดตัวที่ 14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไป 5 แสนล้านบาท บนสมมติฐานว่าธุรกิจค้าปลีกที่ปิดการดำเนินการประมาณ 2 เดือนและสถานการณ์การติดเชื้อเริ่มคลี่คลายจนสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติในไตรมาส 3 แต่ยอดขายยังอาจชะลอตัวในช่วงแรกจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภค แต่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4

อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจค้าปลีกโดยรวมจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ยังมีบาง segment ที่ยังสามารถเติบโตได้ในช่วงวิกฤติอาทิ ร้านสะดวกซื้อและอีคอมเมิร์ซ โดยร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมากและหันไปใช้บริการในร้านค้าปลีกขนาดเล็กแทนหรือหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลให้ภาครัฐมีคำสั่งปิดศูนย์การค้าเป็นการชั่วคราวโดยให้มีการเปิดบริการได้แต่เพียงร้านขายสินค้าจำเป็นบางประเภท อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ซึ่งทำให้รายได้ของธุรกิจค้าปลีกหดตัวลดลงอย่างมาก ถึงแม้ว่ายอดขายบางส่วนจะชดเชยด้วยยอดขายออนไลน์ แต่การขายสินค้าออนไลน์ยังมีสัดส่วนเพียงราว 2-3% ของมูลค่าตลาดค้าปลีก

กระนั้นแม้ประเทศไทยจะประสบกับภาวะวิกฤติ จนต้องมีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นมาเพื่อควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสหรือไวรัสโควิด-19 ล่าสุด ศบค.ได้มีมติยกเลิกประกาศห้ามออกจากเคหะสถาน หรือ เคอร์ฟิว ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ประกาศบังคับใช้เคอร์ฟิว หลายธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ล้วนได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการชั่วคราวทั้งสิ้น มากน้อยตามขนาดและประเภทของธุรกิจ ทั้งจากยอดขายและกำไรที่ลดลง ซึ่งหลายๆ บริษัทจำเป็นต้องปิดตัวลง

ขณะที่บางบริษัทถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังได้รับอานิสงส์ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในเรื่องรูปแบบโครงสร้างของการดำเนินธุรกิจ ที่ครอบคลุกหลากหลาย และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นจำนวนมาก อย่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) หรือ CPALL ที่ถึงแม้ว่าในไตรมาสที่ 1/2563 บริษัทได้รับผลกระทบบ้าง กล่าวคือ มีกำไรสุทธิลดลง 2.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/2563 ที่ 5,645 ล้านบาท สวนทางกับรายได้รวมกลับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 145,856 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2% เทียบจากไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะบวกรายได้จาก บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)หรือ MAKRO เข้าไปด้วยนั่นเอง ขณะที่ปีก่อนไม่มีรายการนี้

นอกจากนี้การที่ CPALL มีต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1กว่า 6.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว หรือกว่า 27,307 ล้านบาท จากการใช้งบลงทุนในการขยายสาขา ตลอดจนถึงถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผันแปรไปกับการเติบโตของสาขา ตลอดจนถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดการร้านในช่วงที่ไวรัส โควิด-19 ระบาด และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการจัดตั้งธุรกิจในจีนและเมียนมาร์

“ต้องยอมรับว่าSSSG ไตรมาส 1 ติดลบไป 4% และ โดยเฉพาะในเดือน เม.ย. ซึ่งทุกปีจะเป็นวันหยุดต่อเนื่องสงกรานต์ติดต่อกันหลายวัน แต่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ผันผวน กดดันให้ยอดขายโดยรวมไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงอีก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมค้าปลีกทั้งหมด แต่กระนั้นเชื่อว่าถ้าสถานการณ์ผ่อนคลายลง รัฐบาลปลดล็อกมาตรการควบคุม และออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป เชื่อมั่นว่ายอดขายจะกลับมาคืนมาได้ในไม่ช้า ขณะแผนการลงทุนขยายสาขาใหม่ ซึ่งตั้งเป้าเปิดปีนี้ 700 สาขา ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้จากกรอบเวลากำหนดในการขยายสาขาให้ได้ทั้งสิ้น 13,000 สาขา ภายใน 2564 และจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนการลงทุนขยายสาขาในกัมพูชา ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งหลังจากสถานการณ์นี้คลี่คลายลง จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนขึ้น” เกรียงชัยกล่าว

อย่างไรก็ดี CPALL ยังเตรียมเดินหน้าใช้งบลงทุนปีนี้ที่วางไว้ 11,500-12,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเพื่อการขยายสาขา 3,800 – 4,000 ล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงร้านค้า 2,400 – 2,500 ล้านบาท และการลงทุนใหม่ๆ 4,000 – 4,100 ล้านบาท และใช้ในการพัฒนาระบบไอที 1,300 – 1,400 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวม สภาพคล่องทางการเงินของ CPALL ในปัจจุบันถือว่ามีสภาพคล่องสูง โดยปีนี้มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ 12,290 ล้านบาท ซึ่งในเดือน มิ.ย. มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ 1,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะครบกำหนดชำระเดือน ต.ค.นี้

ในส่วนของแผนการลงทุนในต่างประเทศนั้น ล่าสุด CPALL ได้เข้าทำสัญญาแฟรนไชส์หลักเพื่อดำเนินการร้าน 7-Eleven ในกัมพูชากับ 7-Eleven, Inc. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาโดย CP ALL (Cambodia) Co., Ltd. (CPALL ถือหุ้น 100%) ได้รับสิทธิแฟรนไชส์ในการจัดตั้งและดำเนินการร้าน 7- Eleven เป็นเวลา 30 ปี และคู่สัญญาอาจตกลงต่ออายุสัญญาได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 20 ปี นอกเหนือจากกัมพูชาแล้ว CPALL ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าทำสัญญาแฟรนไชส์หลักสำหรับดำเนินการร้าน 7-Eleven ในลาวกับ 7-Eleven, Inc.

อย่างไรก็ตาม CPALL ไม่ได้เปิดเผยกรอบเวลาในการเปิดร้าน 7-Eleven และจำนวนสาขาที่ตั้งเป้าไว้ ในระยะแรกของการลงทุน ซึ่งคาดว่า CPALL จะทยอยเปิดร้าน 7-Eleven และจะไม่ลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก เนื่องจากบริษัทสามารถใช้ operational leverage จากฐานในไทย เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับ MAKRO ซึ่งเปิดร้านค้า cash&carry 2 แห่งที่เสียมเรียบและพนมเปญในกัมพูชา

ขณะที่สัดส่วนประชากรต่อร้านสะดวกซื้อ (CVS) ในประเทศไทย (อุตสาหกรรมโดยรวม) อยู่ที่ 4,000 คน (เทียบกับ 2,000 คน ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และไต้หวัน) หลังจากมีการเปิด CVS มานานกว่า 30 ปีในไทย ซึ่งจำนวน CVS ในไทย (ประชากร 67 ล้านคน) อยู่ที่ 17,000 ร้าน โดย 11,700 ร้าน (70%) เป็นร้าน 7-Eleven ถ้าใช้ไทยเป็นบรรทัดฐาน หมายความว่าจะมี CVS 4,000 ร้าน (อุตสาหกรรมโดยรวม) ในกัมพูชา (ประชากร 16 ล้านคน) ในระยะยาว ในด้านผลการดำเนินงาน ซึ่งประเมินว่าบริษัทจะมีขาดทุนเล็กน้อยในระยะเริ่มแรกของการเข้าไปลงทุนจากดีลนี้และจะมีกำไรเพิ่มมากขึ้นในเวลาต่อมา โดยการลงทุนครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาวในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ CVS รายแรกในตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเติบโตสูง เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาดำเนินการรวมทั้งหมด 70 ปี ภายใต้สัญญาแฟรนไชส์หลักในกัมพูชา ซึ่งจะต้องอาศัยระยะเวลาสำหรับสัญญาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยประเมินอย่างคร่าวๆ ได้ว่าดีลนี้จะช่วยสนับสนุนให้ราคาเป้าหมายของ CPALL ปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ราคาหุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 73.75 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 และปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 68.25 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 โดยมีราคาเฉลี่ยที่ 70.61 บาท/หุ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น