ธปท.เผยเดือนเมษายนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับทุกตัว ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนัก กังวลกลุ่มแรงงานมีความเปราะบาง หลังตัวเลขผู้ว่างงาน เม.ย.เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ขณะที่การคลายล็อกดาวน์ และการรับเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกันจะช่วยพยุงเศรษฐกิจระยะต่อไป
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2563 โดยระบุว่า เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวดับลง ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ โดยการท่องเที่ยวติดลบ 100% เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดของหลายประเทศรวมทั้งไทย การส่งออกไม่รวมทองคำติดลบ 15.9% ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ติดลบมากที่สุด แต่หากรวมการส่งออกทองคำเดือนเมษายนมีการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์จะทำให้การส่งออกรวมติดลบ 3.3% ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนติดลบ 15.1% การลงทุนภาคเอกชนติดลบ 6.1% ขณะที่ความต้องการภายในและต่างประเทศลดลง ส่งผลให้ภาคการผลิตติดลบ 17.2% ทำให้การนำเข้าสินค้าทุกหมวดหดตัวสูงตาม เช่นเดียวกับรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเดียว โดยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งรายจ่ายประจำโดยไม่รวมเงินโอนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ขยายตัว 7.99% ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลขยายตัว 28.9% และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัว 14.1% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.7% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นลบ 2.99%
นายดอน ระบุอีกว่า แม้เสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถือว่ามีความเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ยอมรับว่ามีความน่ากังวล ซึ่งเดือนเมษายนมีจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม จาก 92,264 คน เป็น 465,218 คน โดย 16% ถูกเลิกจ้าง ขณะที่สถานประกอบการปิดกิจการเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 445 ราย เป็น 2,406 รายในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มดังกล่าว ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมยังมีแนวโน้มหดตัวในระดับสูง แต่จะดีขึ้นเล็กน้อยจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ รวมทั้งการโอนเงินในโครงการเราไม่ทิ้งกันที่มีจำนวนผู้ได้รับเงินมากขึ้น