ธ.ก.ส.เผยผลดำเนินงาน 7 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากโควิด-19 ผ่านระบบ ธ.ก.ส. ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ การพักชำระหนี้และการสนับสนุนเงินทุนให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน SMEs เกษตร พร้อมเตรียมสินเชื่อและแผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย
ทั้งนี้ มีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.และบุคคลในครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 4 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท ส่วนสินเชื่อฉุกเฉิน เป้าหมาย 2 ล้านราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนรับสินเชื่อจำนวน 2,082,967 ราย จ่ายไปแล้วกว่า 200,000 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนยอดติดตามทบทวนสิทธิตามมาตรการเราไม่ทิ้งกันไปแล้วกว่า 200,000 ราย และการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เป้าหมาย 10 ล้านราย จ่ายไปแล้วกว่า 4.72 ล้านราย เป็นเงินกว่า 23,000 ล้านบาท
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.เตรียมออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว เพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาก่อน ได้มีเงินทุนประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท 2.สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด สำหรับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรม วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และ 3.สินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ สำหรับเกษตกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำการเกษตรระยะสั้น ปีการผลิต 2563/64 วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ สินเชื่อทั้ง 3 โครงการ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.จะเร่งนำเสนอโครงการ เพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังเตรียมมาตรการฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้ากลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ธ.ก.ส. มุ่งหวังว่าสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 1 ล้านราย