xs
xsm
sm
md
lg

“ลงทุนในหุ้นขอฟื้นฟูกิจการ...ต้องระวังถูกลดทุน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดชะงักลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

แม้ภาคธุรกิจจะพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่เชื่อว่าจะมีหลายกิจการจำเป็นต้องปิดตัวลง หรือต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย จากปัญหาการขาดสภาพคล่องและเผชิญต่อภาวะขาดทุน ดังนั้น กิจการที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่ง จะทำให้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบนั่นเอง

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย ถึงแม้จะเป็นทางรอดของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องเจ็บปวดของผู้ถือหุ้น เพราะโดยหลักการทั่วไปแล้วจะต้องดำเนินการลดทุนจดทะเบียน จนแทบไม่เหลืออะไรเลยก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากนั้น จึงจะมีการเจรจากับเจ้าหนี้ ทั้งเรื่องแนวทางการฟื้นฟูกิจการและการปรับโครงสร้างหนี้

การลดทุนจดทะเบียนลงจนใกล้ศูนย์ มีนัยสำคัญต่อราคาหุ้นอย่างมาก เพราะในทางทฤษฎี หมายถึงหุ้นแทบไม่เหลือมูลค่าอะไรเลย ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่ในอดีต ราคาหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่วนใหญ่จะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจนแทบจะเป็นศูนย์ เพราะเป็นการสะท้อนความเสี่ยงในการถูกลดทุน รวมถึงความไม่แน่นอนของแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ ต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์

แนวทางการฟื้นฟูกิจการ และการปรับโครงสร้างหนี้ อาจมีทั้งการยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป การยกหนี้ดอกเบี้ยให้-จ่ายเฉพาะเงินต้น การลดเงินต้นให้บางส่วน (Hair-cut) การแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้ถือหุ้นรายใหม่ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการของแต่ละบริษัทที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากฝั่งของเจ้าหนี้

จากการรวบรวมข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกว่า 52 บริษัท แบ่งเป็น

1.บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ ถูกเพิกถอนออกจากตลาดไปแล้ว 20 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38%

2.บริษัทที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 9 บริษัท ซึ่งปัจจุบันถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขาย และ

3.บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ สามารถกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ 23 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนที่ 44% หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาฟื้นฟูกิจการราว 7 ปี (ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP สูงสุด 18 ปี น้อยสุด 1 ปี)

จะเห็นได้ว่า การลงทุนในหุ้นที่ขอฟื้นฟูกิจการแฝงด้วยความเสี่ยงที่สูงมาก ทั้งในแง่ของการสูญเสียเงินลงทุนไปทั้งหมดจากการถูกลดทุน หรือกิจการฟื้นฟูไม่สำเร็จ และมีระยะเวลาการลงทุนที่ไม่แน่นอน ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงมากได้เท่านั้น และนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ

ที่มา : บล.ทิสโก้


กำลังโหลดความคิดเห็น