จับทิศทางหุ้นไทยในช่วงต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน กูรูแนะกลุ่มสื่อสาร ไฟฟ้า สินค้าเกษตร และ Defensive Stock โดดเด่น พร้อมคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนทั้งปีต่ำกว่าปีก่อนหน้า คาดเริ่มเห็นแววฟื้นตัวช่วงไตรมาส 3 ขณะเดียวกันจับตา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เหตุดันหนี้สาธารณะพุ่งและกดดันความสามารถกู้เงินของรัฐบาลในอนาคต
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในประเทศแม้ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อจะลดลงมาแต่ยังไม่ถึงขั้นหมดไปอย่างสมบูรณ์ ทำให้รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและไม่ปล่อยโอกาสให้มันกลับมาสร้างปัญหารอบสอง เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค. จึงเห็นชอบให้ต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ถึงวันที่ 29 พ.ค. ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ เพื่อหวังผลในการสกัดการเคลื่อนย้ายประชากร และแน่นอนการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ แม้จะมีการผ่อนคลายเกณฑ์ต่างๆ แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และตลาดทุนด้วยเช่นกัน
บทวิจัยจาก 1. การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็นการกู้ 6 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 (สิ้นสุดเดือน ก.ย. 63) และอีก 4 แสนล้านบาท จะกู้ในปีงบประมาณ 2564 (เดือน ต.ค. 2563-เดือน ก.ย. 2564)
2. แหล่งที่มาของเงินกู้ (Source of Fund) จะมาจากในประเทศไม่ต่ำกว่า 80% ผ่านการกู้จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ หรือการออกตราสารหนี้ ส่วนอีก 20% จะกู้จากต่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา
และ 3. เงินกู้ล็อตแรกจะมีจำนวน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 คนละ 5,000 บาท โดยออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) อายุ 4 ปี เสนอต่อธนาคารพาณิชย์ที่สนใจ ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงเทพ (BIBOR) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.97%
ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินความคืบหน้าของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทข้างต้น มองเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าเม็ดเงินหากออกมาได้ไม่สะดุดจะสามารถช่วยพยุงให้เศรษฐกิจของไทยหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ว่าจะหดตัว 5-6% ได้ แต่ ผลกระทบของ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจะทำให้หนี้สาธารณะของไทย (Public debt/GDP) เพิ่มขึ้น โดย สบน.คาดว่าการกู้เงินจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 51.8% ในปี 2563 จากปัจจุบันที่ 42% และในปี 2564 เพิ่มเป็น 58% ซึ่งจะใกล้เคียงกับเพดานหนี้สาธารณะตามกรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของ GDP และจะกดดันให้ความสามารถในการกู้เงินในอนาคตของรัฐลดลง เนื่องจากเผชิญข้อจำกัดจากเพดานหนี้ (Debt Ceiling) และความกังวลดังกล่าวอาจส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ฟันด์โฟลว์ชะลอการไหลเข้าไทยอีก โดยนับตั้งแต่ต้นปีมานักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาแล้วราว 1.5 แสนล้านบาท
ทิศทางหุ้นไทยไตรมาส 2/63
ด้าน “วิลาสินี บุญมาสูงทรง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก จำกัด ประเมินว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน โดยมองกรอบดัชนีเคลื่อนไหวในระดับ 1,250-1,285 จุด แม้จะได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 วงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคารกลางของแต่ละประเทศประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งการเดินหน้าโครงการซื้อสินทรัพย์เพื่อรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาด และเตรียมผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ อิตาลี รวมทั้งประเทศไทย และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน โดยแนะนำนักลงทุนให้ลงทุนในหุ้นได้ประโยชน์หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 คลี่คลาย โดยทยอยสะสมกลุ่มท่องเที่ยว ชู AOT, MINT, ERW และ CENTEL เพราะหากสถานการณ์ดีขึ้นน่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับเข้ามาเที่ยวประเทศไทย รองลงมาได้แก่หุ้นกลุ่มโรงกลั่น เช่น TOP, SPRC และ PTTGC จากผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 1/63 ประกอบกับไม่มีผลขาดทุนจาก Stock Loss และหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น KCE, HANA และ DELTA ซึ่งกลับมาเร่งผลิตสินค้าเพื่อเติมหลัง Stock สินค้าที่ลดลงอย่างมากจากหยุดผลิตในช่วงของการแพร่ระบาด
“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด แสดงความเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ระดับ 1,024.46 จุด ทั้งนี้ เฉพาะในเดือน เม.ย. 2563 ดัชนีเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว 13% และฟื้นตัวสูงถึง 24% จากจุดต่ำสุด ถือว่าเป็นอัตราการฟื้นตัวที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่การฟื้นตัวดูเหมือนจะเกิดขึ้นเร็วและแรงเกินไป ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดหวังถ้าการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องเลื่อนออกไปเพราะเกิดการระบาดระลอกที่สอง ดังนั้น มองว่ายังเร็วเกินไปที่ดัชนีจะฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิด Covid-19 ในไตรมาส 2-3/2563 เนื่องจากคาดว่ากำไรในปี 2563 จะต่ำกว่าปี 2562
ไม่เพียงเท่านี้ ยังเชื่อว่า กลุ่มอุตสาหกรรมหลายกลุ่มยังเผชิญกับความท้าทายที่จะกลับมาเติบโตในระดับก่อนเกิด Covid-19 ด้วย เนื่องจากภาพใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและการเติบโตต่ำ และหากพิจารณาจากมูลค่าหุ้นปัจจุบันมีระดับ P/E ปี 2563 เท่ากับ 16.8 เท่า หรือเท่ากับระดับ +1SD ของค่า P/E เฉลี่ย 7 ปี ก็ถือได้ว่าสะท้อนผลการดำเนินงานของปี 2562 ไปมากแล้ว จึงประเมินว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/63 เริ่มจำกัด แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาว ประเมินเป้าหมายของดัชนีในปี 2564 ที่ระดับ 1,400-1,450 จุด
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้นปี 2563 จะปรับตัวลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายที่หดตัวลง 16% ทำให้ตัวเลข EPS ปี 2563 ต่ำกว่า consensus อยู่ 17% สะท้อนภาพว่าตลาดอาจมีการปรับลดประมาณการได้อีกหลังจากตั้งแต่ต้นปี 2563 ประมาณการ EPS ปี 2563 และปี 2564 ถูกปรับลดลงมาแล้ว 26% และ 18% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ 13% ในปี 2563 และ 8% ในปี 2564 โดยคาดว่า EPS ปี 2564 จะเติบโต 25% จากฐานต่ำในปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับ EPS ของตลาดหุ้นภูมิภาคที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 30%
“ในแง่มูลค่าของกำไรสุทธิของ SET อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับปี 2562 จนกว่าจะถึงปี 2565 สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ ของบางธุรกิจ เช่น ธนาคาร อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมียังคงต้องประเมินทิศทางของราคาน้ำมันดิบต่อเนื่อง ขณะที่ความเสี่ยงต่อไป คือ ความผิดหวังหากการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจช้ากว่าคาด แต่ระดับการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในปัจจุบันถือว่าได้มองข้ามผลกระทบของโควิด-19 ในปี 2562 ไปพอสมควรแล้ว”
ทำให้กลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบันยังคงแนะนำให้เลือกซื้อหุ้น Defensive และคุณภาพสูง โดยยังคงมุมมองระมัดระวังต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว และอัตราการฟื้นตัวในระยะสั้นเนื่องจากสถานการณ์ยังไม่แน่นอน ขณะที่หุ้น defensive นั้นมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจึงยังคงหุ้นเด่นที่เคยแนะนำไว้ในช่วงต้น ไตรมาสที่ 2/63 คือ BDMS, BEM, BTS, CPF และ MINT
ขณะที่ “ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ไตรมาส 1/63 เป็นไตรมาสที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 แบบไม่เต็มที่ เพราะยังไม่เต็มทั้งไตรมาสจริงๆ เนื่องจาก Covid-19 เริ่มแพร่ระบาดในช่วงปลายเดือนมกราคม ก่อนทวีความรุนแรงในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เรื่อยมาถึงปัจจุบัน คาดว่าในไตรมาส 2/2563 เดือนเมษายนเต็มเดือนจะเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบหนักๆ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และแม้ว่าเดือนพฤษภาคมนี้อาจมีการปลดล็อกมาตรการควบคุมออกมาบ้าง แต่การจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้จริงๆ น่าจะเป็นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จึงเชื่อว่าทั้งไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว อย่างเต็มที่ และมากกว่าไตรมาส 1 แน่นอน
ทั้งนี้ เพราะนอกจากช่วงเดือนพฤษภาคมจะเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องเน้นๆ ในไตรมาส 2 แล้ว ยังเป็นเดือนที่มีเรื่องราวเฉพาะตัวด้วย เพราะจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าในเดือนนี้จะเป็นเดือนที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงเพราะจะเป็นเดือนที่มีแรงขายดัชนีหุ้นไทยออกมามากกว่าปกติอยู่แล้ว ซึ่งหากรวมกับผลกระทบที่เกิดจาก Covid-19 จะทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงมากกว่าเดิมอีกครั้ง และเป็นช่วงรอยต่อของงบประมาณเงินกู้ตาม พ.ร.ก.วงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม ทำให้ประเมินว่าครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่สภาพคล่องในระบบไม่ได้ดีมากนัก
สำหรับแนวโน้มการประกาศงบของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในไตรมาส 1/63 เริ่มต้นที่กลุ่มธนาคาร คาดว่าภาพรวมจะปรับลดประมาณ 9.7% โดยจะมีเพียง 2 ธนาคารที่ยังสามารถเติบโตได้ คือ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทีเอ็มบี โดยธนาคารกรุงเทพจะเป็นสินเชื่อในภาคธุรกิจที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าสินเชื่อกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ซึ่งจะมีสัดส่วนอยู่ในธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์มากกว่า ทำให้ธนาคารกรุงเทพยังมีการเติบโตได้แม้จะไม่ได้เยอะมากมายนัก ส่วนธนาคารทีเอ็มบีเห็นการเติบโตได้จากการควบธนาคารธนชาตเข้ามาจึงดูเติบโตได้สูงกว่าภาพรวมเล็กน้อย โดยภาพรวมหุ้นกลุ่มธนาคารในระยะสั้นยังต้องระวังการขายทำกำไรออกมา หลังจากประกาศงบแล้วเสร็จ (เซลออนแฟกต์) เนื่องจากคาดว่านักลงทุนจะยังมีความกังวลในส่วนของหนี้ไม่ก่อรายได้ (NPL) หรือหนี้เสีย อาจเร่งขึ้นในไตรมาส 2/63 ได้ แต่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบทำให้หุ้นปรับลดลงไปลึกมากนักเพราะแบงก์ก็อยู่ในโซนที่ต่ำอยู่แล้วในปัจจุบัน
ขณะที่หุ้นกลุ่มเกษตรและอาหาร จะได้รับปัจจัยเชิงบวกในเรื่องของการกักตุนอาหารและการส่งออก ซึ่งจะเป็นการเร่งส่งออกในส่วนของเนื้อหมู และไก่ เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG), บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) และหุ้นกลุ่มเครื่องดื่ม ยังมีแนวโน้มเห็นการเติบโตได้ เช่น บมจ.โอสถสภา (OSP), บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับของกินของใช้ที่ยังดูดีอยู่
นอกจากนี้ กลุ่มสื่อสารที่ผลประกอบการถึงแม้จะไม่ได้โตมาก แต่ไตรมาส 1/63 ประเมินว่าน่าจะออกมาแบบทรงตัว ถือว่าดีกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ รวมถึงกลุ่มที่จะเห็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปคือหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งหากสามารถเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้แล้วจะทำให้กำไรเติบโตมากขึ้น อาทิ GPSC ที่มีการบวกกำไรของบริษัทย่อยเข้ามาเพิ่มด้วย ส่วนอีกกลุ่มเป็นหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ คาดว่าจะเติบโตได้จากปัจจัยบวกเฉพาะตัว เพราะช่วงไตรมาส 1/63 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัว และได้รับผลกระทบจาก Covid -19 ทำให้มีการวิ่งเข้าหาสินเชื่อมากขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ
“ในแง่ของภาพเศรษฐกิจคาดว่าจะฟื้นขึ้นได้ในไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป แต่ในแง่ของตลาดหุ้นจะฟื้นนำล่วงหน้าไปก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเห็นคือดัชนีอาจมีการพักตัวลงบ้างในช่วงที่รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าดัชนีหุ้นไทยจะไม่สามารถปรับลดลงไปแตะระดับต่ำสุดที่บริเวณ 969 จุด ถือว่าต่ำสุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาได้อีกแล้ว โดยอาจเห็นดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 3 ปรับตัวขึ้นได้ ส่วนไตรมาส 4 จะเร่งตัวขึ้นดี และเป็นภาพการปรับขึ้นได้ดีในระยะยาว แต่หากประเมินตามมูลค่าหุ้นในตลาดขณะนี้ถือว่าค่อนข้างตึงตัวมากเนื่องจากดัชนีหุ้นปรับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 969 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,239.24 จุด ซึ่งปรับขึ้นมาแล้วกว่า 28% ถือว่าหุ้นไทยเป็นตลาดที่ปรับตัวขึ้นมาสูงมาก หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ปรับขึ้นมาเพียง 20% เท่านั้น”
ส่วนปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นในระยะถัดไปเป็นการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ โดยเมื่อผ่านพ้นวิกฤต Covid-19 ไปแล้ว จะต้องเตรียมรับมือกับภัยแล้งที่กำลังจะเข้ามา และปัญหาในเรื่องการเมืองตามมาในส่วนของการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล ด้วยความที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงมากจึงต้องจับตามองในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าจะกลับเข้ามาหรือไม่ โดยหากไม่กลับมาก็จะเป็นความเสี่ยงในการไร้สภาพคล่องเข้ามากดดันเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันยังต้องจับตามองว่า ภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพราะขณะนี้กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยย่ำแย่มาก และหากดูเนื้อในดีๆ บริษัทจดทะเบียนไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลย และที่ผ่านมามาตรการเหล่านั้นออกมาเพื่อช่วยบริษัทนอกการจดทะเบียน และช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) มากกว่า และหากรัฐบาลกล้าทำออกมาก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนในการทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ 1,300 จุดได้ เพราะจะทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับขึ้นในทันที