xs
xsm
sm
md
lg

‘โควิด’ ฉุดแบงก์กำไร Q1 วูบ 18% ห่วงไตรมาส 2 อ่วมหนัก-เอ็นพีแอลพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมาและยังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นหนึ่งสถาบันหลักของเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นภาพได้ชัดเจนในผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่เพิ่งจะออกมา และที่สำคัญผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่ไตรมาสนี้...

กำไรรวมวูบ-เอ็นพีแอลเพิ่ม

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในระบบ 10 แห่ง สิ้นสุด ณ ไตรมาสแรกปี 2563 มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 44,116 ล้านบาท ลดลง 9,932 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีกำไรสุทธิลดลงในอัตราสูงสุดที่ 44.79% รองลงมาได้แก่ ธนาคารกสิกรไทยลดลง 34.48% ธนาคารกรุงไทยลดลง 16.71% และธนาคารกรุงเทพลดลง 15.04% ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์กำไรเพิ่มขึ้น 1.04% ส่วนการเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินงานสูงสุด ได้แก่ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่มีผลประกอบการขาดทุน 708 ล้านบาท ลดลง 187.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่กระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ การที่ธนาคารต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะเพิ่มเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนในอนาคต ตามแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ (NPL) ที่ขยับตัวสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และการระบาดของไวรัสโควิด-19

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิไตรมาสแรกจำนวน 7,671 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 15.3% จากไตรมาส 4 ปี 2562 จากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate:EIR) ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอยู่ที่ 2.52% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 22.4% ส่วนใหญ่ลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ และรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงจากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากไตรมาส 4 ปีก่อนที่ธนาคารมีกำไรสุทธิจากเงินลงทุนจำนวน 14,988 ล้านบาท ขณะที่มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่กำหนดให้วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมมีมูลค่าลดลงตามสภาวะตลาดเงินและตลาดทุนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2563 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 6,082 ล้านบาท ลดลง 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง แม้ว่าสินเชื่อเติบโต 1.9% จากสิ้นปี หรือ 4.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี ประกอบกับการได้รับประโยชน์จากการปรับลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้ง และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั้ง MLR MOR และ MRR เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้า รวมถึงการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เอ็นพีแอลอยู่ในระดับ 4.36% ใกล้เคียงกับปลายปีก่อน

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 6,581 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,463 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.47% โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 4,869 ล้านบาท หรือ 39.78% ส่วนใหญ่เกิดจากความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,830 ล้านบาท หรือ 11.21% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ตามเกณฑ์ TFRS 9 ประกอบกับการปรับลดอัตราเงินนำส่ง FIDF ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.49%

สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.86% โดยธนาคารได้มีการติดตาม ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65%

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีกำไรสุทธิประจำไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 9,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายได้รวมที่ขยายตัว 9% จากปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4% หลังจากการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง และการรับรู้รายได้ที่สูงขึ้นของพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามมาตรฐานบัญชีใหม่ อย่างไรก็ตาม ฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากภาวะดอกเบี้ยขาลง การหดตัวของยอดสินเชื่อรวมในไตรมาสแรกของปี และการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยภายหลังที่ธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมา

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน เป็นผลส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมประเภท recurring ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้สามารถชดเชยผลกระทบของการคิดค่าธรรมเนียมแบบใหม่ตามแนวทางการกำกับดูแลของทางการเมื่อต้นปี และการชะลอตัวของปริมาณการทำธุรกรรมธนาคารในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 9,726 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปี 2563 เพื่อรองรับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชีใหม่ในการประมาณการด้อยค่าของสินทรัพย์ตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารอยู่ที่ 3.17% ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับเพียงพอที่ 140%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) แจ้งกำไรสุทธิ 1/2563 จำนวน 7.03 พันล้านบาท ลดลง 44.80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 9.3% จากไตรมาส 4/2562 โดยมีเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.9% คิดเป็นจำนวน 52,000 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 จากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อเพื่อรายย่อย สะท้อนถึงการเติบโตที่ต่อเนื่องมาจากช่วงสิ้นปี 2562 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปรับลดลง 6.1% จากการชำระหนี้ตามฤดูกาลและปริมาณการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 9.2% หรือจำนวน 869 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่เป็นผลจากการลดลงของกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้ารายย่อย สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในระหว่างไตรมาส และมี NPL Ratio ที่ระดับ 2.22% เทียบกับ 1.98% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562

จับตาไตรมาสถัดไปผลกระทบแรงขึ้น

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาสแรกของธนาคารแม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่การแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 กำลังสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อประชาชนและภาคเอกชน และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจธนาคารทั้งในด้านรายได้และคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะปรากฏอย่างชัดเจนในไตรมาสถัดๆ ไป ซึ่งในช่วงเวลานี้ธนาคารมีเป้าหมายหลักที่จะช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบให้ฟื้นตัวและกลับมาสู่ภาวะปกติได้ โดยให้ลูกค้าเข้าร่วมโครงการบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของธนาคาร และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในมาตรการต่างๆ ที่ประกาศโดยหน่วยงานกำกับดูแล และธนาคารจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยให้ลูกค้าและทุกภาคส่วนของสังคมก้าวข้ามช่วงเวลาอันท้าทายนี้ไปด้วยกัน

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แม้ว่ากรุงศรีฯ สามารถส่งมอบผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แต่ธนาคารคาดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะรุนแรงมากขึ้นในไตรมาส 2 เนื่องจากการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน จากการหยุดชะงักของภาคการผลิตและรายได้ที่ลดลง ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจและลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 24 มีนาคม และ 10 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่ได้ออกมาสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น การพักชำระหนี้เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย การปรับลดการชำระดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาผ่อนชำระ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลกของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการดำเนินธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง รัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยธนาคารได้ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกลไกของภาครัฐ โดยได้ออกหลากหลายมาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน และดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คือ เรื่องคุณภาพสินเชื่อ จากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การชะลอตัวลงของธุรกิจ กฎเกณฑ์มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มเติมเข้ามา และยังมีความไม่แน่นอนของระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากนี้ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้อาจแตกต่างจากที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม 3 ประเด็น ได้แก่ 1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะมีความรุนแรงเพียงใด และการ Lockdown จะใช้เวลานานเท่าใด 2) ผลของมาตรการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ของทางการต่อระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะส่งผลบวก ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการ การเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายเงินของประชาชนต่อไป และ 3) สถานการณ์ภัยแล้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น