xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ ประเมินโค้งแรกผลงานเข้าเป้า หนุนภาพรวมทั้งปีโต 15%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ถือหุ้น FPI ลงมติจ่ายเงินปันผลงวดปี 62 เพิ่มอีก 0.045 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้อัตราเงินปันผลรวมอยู่ที่ 0.095 บาทต่อหุ้น เตรียมกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิวันที่ 7 พ.ค. 2563 พร้อมจ่ายเงินสดวันที่ 21 พ.ค.นี้ ฟาก "สมพล ธนาดำรงศักดิ์" กรรมการผู้จัดการ ประเมินไตรมาส 1/63 อยู่ในทิศทางที่ดีตามเป้าหมาย ช่วยหนุนผลงานปีนี้เติบโต 20% ตุนแบ็กล็อกหนากว่า 700 ล้านบาท ขณะที่รับรู้รายได้จาก ALP FPI ในอินเดียแบบเต็มปี มั่นใจฝ่าวิกฤตไวรัสโควิดระบาดได้อย่างแน่นอน

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลงวดประจำปี 2562 เพิ่มอีก 0.045 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.05 บาท จะทำให้เงินปันผลรวมในปี 2562 อยู่ที่ 0.095 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลเพิ่มภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้

"สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจช่วงไตรมาส 1/2563 ผ่านไปด้วยดี และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งน่าจะสนับสนุนให้ภาพรวมผลประกอบการทั้งปียังสามารถรักษาการเติบโตระดับ 15% จากปีก่อน หากสถานการณ์โรคไวรัส COVID-19 ระบาดทั่วโลกจบภายในเดือนมิถุนายน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีงานในมือที่คาดว่าจะสามารถรอรับรู้รายได้ในปี 63 อยู่ที่ราว 400 ล้านบาท รวมทั้งบริษัทฯ จะมีการรับรู้รายได้จากบริษัท ALP FPI PARTS PRIVATE LIMITED (ALP FPI) ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศอินเดีย เข้ามาแบบเต็มปีอีกด้วย" นายสมพลกล่าว

เขากล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 146 ล้านบาทเพื่อใช้สำหรับรองรับการเพิ่มไลน์การผลิตในกลุ่มเครื่องพ่นสี โดยบริษัทมีแผนจะนำระบบเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์พ่นสี และเครื่องฉีดพลาสติกเข้ามาใช้ในส่วนของการผลิตเพิ่มอีก 1-2 ตัว ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในการผลิตได้มากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงไลน์การผลิตเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ในปีนี้การที่สถานการณ์ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลดีต่อการควบคุมต้นทุนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้นอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น