xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ ชงรัฐเลิก "LTV-เลื่อนภาษีที่ดินฯ" รับมือพิษโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์
สมาคมอสังหาฯ ไทย หวั่นพิษโควิด-19 กระทบภาคธุรกิจอสังหาฯ รุนแรง เสนอให้ยกเลิกมาตรการ LTV เลื่อนจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เตือนผู้ประกอบการหนี้หุ้นกู้ตั๋วบีอีเยอะ รีบเคลียร์ พร้อมส่งเสริมให้มีสถาบันหนุนความเชื่อมั่นแบงก์ปล่อยสินเชื่อ

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "รวมพลัง อสังหาฯ 5 ภูมิภาค ฝ่าวิกฤตโควิด-19" ซึ่งจัดโดยเทอร์ร่าบีเคเค สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาคทั่วไทย ว่า แนวทางส่งเสริมให้ภาคอสังหาริมทรัพย์สามารถกลับมาฟื้นตัว ท่ามกลางการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีหลายประเด็น ได้แก่ ประการแรก ควรยกเลิก มาตการกำกับควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย "Loan to Value หรือ LTV" ซึ่งจะช่วยกระตุ้นทั้งกำลังซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่จะเข้ามาซื้อเพื่อการลงทุน ซึ่งจะช่วยดูดซัปพลายภายในระบบได้ ประการที่สอง เรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์แน่นอน และเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2563 จะมีการเก็บภาษีตามที่กฎหมายระบุไว้

ประการที่สาม การสร้างกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ซึ่งเราก็กังวล หากธนาคารสวมหมวกกันน็อก มองทุกธุรกิจเสี่ยงหมดก็น่าเป็นห่วง ดังนั้น ที่ผ่านมาในระบบเคยมีกลไกในการฟื้นความเชื่อมั่น ผ่านบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC) การเข้าไปรับซื้อหนี้สินเชื่อจากธนาคาร เช่น อาชีพกัปตันนักบิน เป็นกลุ่มที่มีรายได้ดี แต่วิกฤตครั้งนี้ ทำให้ธนาคารอาจจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ซึ่งหากมี SMC เกิดขึ้นอีกครั้งก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการตั้งสำรองในเกณฑ์ที่สูง แต่ทั้งนี้ ประเด็นเรื่อง SMC เป็นภาพใหญ่ของนโยบายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ยกเลิก SMC ไปแล้ว

"ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 จะจบเมื่อไหร่ แต่หากเกิดความชัดเจนในเรื่องของวัคซีนป้องกันแล้ว ก็จะเป็นการฟื้นความเชื่อมั่นได้ ซึ่งผลจากโควิด-19 ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบก่อน ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหมือนมะเร็ง ช่วง 3 เดือนข้างหน้า เรายังทนได้ แต่ถ้าปล่อยไปถึงไตรมาส 4 คิดว่าลำบาก คล้ายๆ วิกฤตปี 2540 ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ถูกกระทบและล้มกระจาย ยิ่งตอนนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใดมีหนี้เยอะ ก็จะลำบาก บริษัทใดออกหุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน และจะครบดิวจะต้องหาวิธีบริหารสภาพคล่องให้ดี เพราะประเมินว่าปลายปีจะมีตัวเลขครบไถ่ถอนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ทางออกของผู้ที่ออกหุ้นกู้ หรือตั๋วบีอี ก็ต้องไปยืดหนี้ตัวนี้ออกไป แม้ว่าแบงก์ชาติจะมีการเข้ามาช่วยเหลือตราสารหนี้ในระบบ แต่จะเน้นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อที่ดี"

อย่างไรก็ตาม ในภาวะแบบนี้จะเห็นผู้ประกอบการแข่งขันการลดราคาขายโครงการที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการายใหญ่ มีการจูงใจผู้ซื้อ ลดกระหน่ำถึง 50% ทำให้มีลูกค้าเข้าไปซื้อเยอะ ส่วนผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก การจะใช้เรื่องราคามาทำตลาดเหมือนรายใหญ่แล้วนั้น จะยิ่งทำให้ ธนาคาร (เจ้าหนี้) เกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น และถ้าเร่งการขายกันมากแล้วเกิด 3-4 เดือนข้างหน้ามีปัญหาขึ้นมา เช่น ลูกค้าไม่โอนห้องชุดหรือบ้าน ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ และลุกลามไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะต้องรับอาคารหรือห้องชุดมาแทนชำระค่าก่อสร้าง และหากผู้รับเหมาไม่มีสภาพคล่องไปซื้อวัสดุก่อสร้างแล้ว จะกลายเป็นปัญหาตามมาสู่ระบบก่อสร้างอีก

นายปรีชา กุลไพศาลธรรม
นายปรีชา กุลไพศาลธรรม นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี กล่าวสนับสนุนให้รัฐยกเลิก LTV เนื่องจากเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการเดือนเมษายน 2562 ตลาดหดตัวลงไป 20% และการให้รัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเสนอดอกเบี้ยพิเศษเช่น 0% นาน 3 ปี เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจที่จะซื้อและโอนที่อยู่อาศัยได้ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษในเรื่องตกแต่ง และน่าจะขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง เหลือรายการ 0.01% ครอบคลุมทุกระดับราคา

"ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กตอนนี้ก็พยายามช่วยเหลือตนเอง ลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่ยเฟือยลงไป แต่หากสถานการณ์ลากยาวเกินกว่า 3 เดือน จะเป็นเรื่องลำบาก จะเห็นผู้ประกอบการบางรายต้องปิดโครงการชั่วคราว"
กำลังโหลดความคิดเห็น