xs
xsm
sm
md
lg

ทรีนีตี้มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 กนง.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายลงแตะ 0.5% เยียวยาผลกระทบ COVID-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
ทรีนีตี้มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 โดยผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19 ชี้การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอาจเป็นทางออกเดียวของไทย เผยความเป็นไปได้ที่ กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งมาสู่ระดับ 0.5%

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เผยมุมมองต่อตลาดหุ้นไทย ช่วงวันที่ 13-17 เมษายน 2563 ว่า จากจำนวนผู้ที่ติดเชื้อใหม่ของ COVID-19 ของอิตาลีได้ลดลง และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของสหรัฐฯ จะลดลงในเดือนเมษายนนี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในอินโดนีเซีย อินเดีย และบราซิล กำลังพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในญี่ปุ่น และประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ กลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็น second wave ของผู้ติดเชื้อ

"เมื่อเราศึกษาถึงการระบาดของไข้หวัดสเปน ในปี ค.ศ. 1918-1919 พบว่าการระบาดใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการควบคุม มีผู้เสียชีวิตกว่า 17-50 ล้านคน มีอัตราการเสียชีวิต 5-10% และมีการสูญเสียในแง่เศรษฐกิจโลกโดยรวมเท่ากับ 6-13% ของ GDP โลก ในขณะที่ COVID-19 อุบัติขึ้นแค่ 4 เดือน แต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจโลกโดยรวมกว่า 9% ของ GDP ขณะที่ภาวะวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ภาวะการว่างงานทั่วโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสหรัฐฯ มีผู้รับสวัสดิการการว่างงานเป็นครั้งแรก (Initial Jobless Claims) พุ่งสูงถึง 16.5 ล้านคนในช่วง 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ในไทยเองคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์การตกงานของไทย 7.1 ล้านคน โดยเฉพาะภาคบริการ ในขณะที่อินเดียมีคนว่างงานกว่า 23% เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนวิกฤต COVID-19 ที่ 6-8% ถ้าวิกฤต COVID-19 ไม่สามารถหยุดการระบาดได้ในไตรมาส 2 นี้ ภาวะการว่างงานจะลุกลามสู่ภาคการผลิต เช่น รถยนต์ มอง GDP ของไทยในไตรมาสหนึ่งอาจจะติดลบ -3.3% ถึง -3.8% แต่ความเจ็บปวดที่แท้จริงจะอยู่ในไตรมาส 2 ที่ -8% ถึง -9% ก่อนฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4 ทำให้คาดว่าตัวเลขที่ ธปท.คาดว่า GDP ของไทยจะติดลบทั้งปีที่ -5.3% อาจจะเป็นกรณีที่ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับ GDP สมัยต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2541 ที่ GDP -2.8% และ -7.6% ตามลำดับ"

อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่กระทรวงการคลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 โดยผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจจำนวน 1 ล้านล้านบาท ถือเป็น 5.9% ของ GDP และ ธปท.ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ เป็นเรื่อง Soft Loans แก่ SME กว่า 5 แสนล้านบาท (3% ของ GDP) และเป็นกองทุนรักษาเสถียรภาพของตลาดพันธบัตรเอกชนผ่าน Corporate Bond Stabilization Fund กว่า 4 แสนล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินในการรักษาเสถียรภาพเป็นเงินกว่า 9 แสนล้านบาท (5.3% ของ GDP) เมื่อรวมกันถือเป็นเม็ดเงินกว่า 11.2% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 1 และเฟส 2 ที่ 3.1% ของ GDP และเมื่อรวมทั้งหมดจะสูงถึง 14.3% ของ GDP เลยทีเดียว ด้วยขนาดเม็ดเงินดังกล่าว ทำให้หนี้ภาครัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นจาก 41% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2019 มาสู่ระดับ 57% ของ GDP ในปี 2021 ทันที ซึ่งใกล้เคียงกับเพดานสูงสุดที่กฎหมายกำหนดทื่ 60% ของ GDP โดยการแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ด้วยการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ อาจเป็นทางออกเดียวของไทย ณ ตอนนี้ ซึ่งต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีเงินทุนไหลเข้า และเข้ามาเพิ่มทุนในบริษัทเอกชนหลายแห่ง

นอกจากนี้ แนวโน้มที่ กนง.ของไทยมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งมาสู่ระดับ 0.5% เมื่อเราศึกษาข้อมูลจาก ThaiBMA พบว่าจะมีพันธบัตรเอกชนครบอายุกว่า 4.8 แสนล้านใน 9 เดือนข้างหน้า ซึ่งจำนวนนี้ 2.2 หมื่นล้านเป็น non-rated เพราะฉะนั้นความสุ่มเสี่ยงในการเกิด Debenture Crisis ไม่มาก

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ GDP จีนในไตรมาสหนึ่งอาจจะติดลบ 5-7% (เปิดเผยในสัปดาห์นี้) คาดว่ารัฐบาลจีนและธนาคารกลางจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจจะมากถึง 4-5% ของ GDP อาจรวมถึงการลดภาษี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลจีนอาจจะออกพันธบัตรของรัฐบาลกลางหรือ GSB กว่า 3 ล้านล้านหยวน มองว่าจีนยังคงมี GDP เป็นบวกที่ 2-3% ในปี 2020 นี้ แต่ประเทศอื่นจะมี GDP ติดลบแทบทั้งสิ้น

นอกเหนือจากนโยบาย QE แบบไม่จำกัดวงเงินและดอกเบี้ยนโยบายที่เป็น 0% Fed โดยอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติมกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญภายใต้ CARES Act เพื่อช่วย Main Street หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เมื่อรวมทั้งหมดจะเป็นเม็ดเงินมากกว่า 5 ล้านล้านเหรียญเมื่อจบ program ใน 2-3 ปีข้างหน้า และประธาน Fed ยังคงมีมุมมองว่าจะอัดฉีดเพิ่มจนกระทั่งสถานการณ์ดีขึ้น ถือว่า Fed ใช้นโยบาย “Whatever it takes” มองว่าถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว Fed อาจจะใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเหมือนที่ธนาคารญี่ปุ่นใช้ มองว่า Bond Yield ของสหรัฐฯ อาจเห็น New Low ในอนาคต ซึ่งไม่ดีต่อตลาดหุ้น

อย่างไรก็ดี การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเป็น Bear Market Rally เหมือนที่ให้ไว้ในมุมมองกลางเดือนมีนาคม และเป็นตลาดหุ้นที่ถูกผลักดันโดยสภาพคล่อง (Liquidity driven) เป็นหลัก ธนาคารกลางและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้นโยบายเชิงรุกในแง่การลดดอกเบี้ย การซื้อสินทรัพย์และพันธบัตร และการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านเงินกู้ และมองว่าตลาดหุ้น Bottom Out ไปแล้วอย่างน้อย 6 เดือนข้างหน้า และมองว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำแบบติดดิน เหมือนประเทศญี่ปุ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นยังได้อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 108 ล้านล้านเยน (หรือประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญ) นับเป็นกว่า 20% ของ GDP ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คาดการณ์เศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 ยังมี Social Distancing และมองว่าความต้องการในบริการและสินค้าตลาดจะมีกำลังซื้อต่ำ และมี Output gap สูง (ผู้ผลิตมากกว่าผู้ซื้อ) และมีความเสี่ยงนำไปสู่เศรษฐกิจแบบ Deflation (เงินฝืด) ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเกิดชะงักหรือ Stagflation มองเป็นโอกาสลงทุนในต่างประเทศที่ฟื้นตัวจาก COVID-19 จะได้ประโยชน์สูงสุด มอง Sector ที่มี R&D เกี่ยวกับ Health care และ Cloud Service จะ Outperform แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า Sector ต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีใน SET ของไทย

กระนั้น จากการศึกษาพบว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะใช้เวลา 1-2 ปีในการฟื้นฟูเพื่อให้เท่ากับก่อนวิกฤต COVID-19 แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะใช้เวลา 3-4 ปีในการฟื้นฟูเพื่อให้เท่ากับระดับก่อนวิกฤต เพราะตัวเลขการว่างงาน (unemployment Rate) อาจจะสูงถึง 15-16% บ่งบอกถึงการว่างงานกว่า 20 ล้านตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าสมัยวิกฤต Hamburger เกือบ 2 เท่า และเศรษฐกิจยุโรปใช้เวลามากกว่านั้นในการฟื้นฟู


กำลังโหลดความคิดเห็น