xs
xsm
sm
md
lg

เข็นมาตรการปรับเกณฑ์ขายชอร์ต ตั้งกองทุนพยุงหุ้นหวังประคองตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าตลาดหุ้นโลกดิ่งหนักหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพบว่าหลายประเทศได้งัดใช้ "เซอร์กิต เบรกเกอร์" กันตามระเบียบ แม้แต่ตลาดทุนบ้านเราก็ไม่พ้นเพราะดัชนีดิ่งเหวต่อเนื่อง อาจมีโงหัวขึ้นมาบ้าง แต่วันต่อมาก็ผันผวนหนักจนยากเกินคะเน แถมบางวัน "หุ้นไทย" รูดแรงตั้งแต่เปิดตลาด ต้องพักการซื้อขายก็เป็นมาแล้ว แม้จะรีบาวนด์ขึ้นในภายหลังก็ตาม จึงไม่แปลกที่รัฐเร่งออกมาตรการเพื่อสะกัดและป้องกันการเกิดเหตุอันเกินคาดในตลาดทุนไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวถึงการปรับตัวลดลงหนักมากของดัชนีตลาดหุ้นในช่วงสัปดาห์ก่อน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอันเป็นผลมาจากความหวาดวิตกกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะความวิตกของนักลงทุนในสหรัฐฯ ที่กังวลต่อสถานการณ์มากทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงมาก จึงส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่พ้นแม้แต่ตลาดหุ้นไทย

ถือว่าตลาดหุ้นของเรายังมีพื้นฐานที่ดี ดังนั้นต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นและมีการกำหนดกฎเกณฑ์และเครื่องมือที่เหมาะสมในการดูแลดัชนีหุ้น

อย่างไรก็ดี การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.เพื่อทบทวนการชอร์ตเซล และการฟอร์ซเซล ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงรวมทั้งการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น (Stabilization)

โดยกองทุนนี้จะไม่ใช้เงินงบประมาณแต่จะใช้เงินจากการลงขันกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ ธนาคารของรัฐ และภาคเอกชน ส่วนขนาดของกองทุนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีขนาดเท่าไหร่ แต่จะมีขนาดใหญ่พอที่จะให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนได้ว่าเรามีเงินจำนวนหนึ่งที่จะดูแลตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ เมื่อตอนปี 2540 มีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมา โดยขนาดกองทุนอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้าน ก็สามารถที่จะ Calmed down ตลาดลงได้ ในขณะนี้คงต้องการเงินที่มากกว่านั้นเนื่องจากตลาดทุนไทยมีมาร์เกตแคปที่ใหญ่มากถึงประมาณ 16-17 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทุนต้องใหญ่มากแต่ต้องเป็นขนาดที่ให้ความมั่นใจได้ เมื่อจัดตั้งแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะมาไล่ซื้อหุ้นทันที ก็ต้องดูในเรื่องเวลาที่เหมาะสมด้วย

ตลท.ปรับเกณฑ์ชอร์ตเซล

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ได้ปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ตเพื่อใช้เป็นการชั่วคราว จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เป็นจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เท่านั้น เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราว เริ่มตั้งแต่การซื้อขายในภาคบ่ายของวันที่ 13 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 2563

สำหรับมูลค่าการชอร์ตเซลสัปดาห์ก่อนมีมาตรการออกมา พบว่ามียอดรวมถึง 23,914 ล้านบาท เฉพาะเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2563 ยอดชอร์ตเซลสูงถึง 8,414.91 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเพราะช่วงวันที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรุนแรง ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) และการซื้อขาย Block Trade น่าจะหายออกไปจากตลาดไม่ต่ำกว่า 50-60% เนื่องจากส่วนใหญ่ถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม (มาร์จิ้นคอล) และถูกบังคับขาย (ฟอร์ซเซล) จนทำให้ขาดทุนกันถ้วนหน้าเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ สำหรับคนที่เล่น Block Trade ส่วนใหญ่มีอัตราทดหรือ Leverage สูงถึงระดับ 15 เท่าตัว ซึ่งเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลง 10% จึงไม่แปลกที่จะทำให้เงินทั้งหมดที่ลงทุนไว้หายไปและบางส่วนยังต้องเป็นหนี้กับโบรกเกอร์ด้วย โดยเริ่มเห็นสัญญาณของนักลงทุนที่เริ่มทยอยลดลงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนมาก หลังจากหุ้นลงวันละ 40-50 จุด และทำให้ปัจจุบันมูลค่าซื้อขาย Block Trade คงค้างเหลือเพียงระดับ 10,400 ล้านบาท จากต้นปีที่อยู่ระดับ 26,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากรัฐต้องการให้มีเม็ดเงินเข้ามาช่วยประคองตลาด สามารถทำได้โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีวงเงินชั่วคราวของกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (SSF) เพราะวงเงินที่อนุมัติให้มา 2 แสนบาทถือว่าไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เดิมที่ 5 แสนบาท ส่วนกรณีที่ ตลท.ปรับเกณฑ์การชอร์ตเซลเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีในการหยุดแรงขายทำกำไรได้บ้าง แต่จะให้ดีมากขึ้นควรพิจารณาเพิ่มหลักประกันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) บางสินค้า เช่น Block Trade เพื่อลดอำนาจการซื้อลง ซึ่งคาดว่าจะช่วยหยุดแรงขายลงได้ เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นไทยนั้นมีการปรับตัวลดลง

ขณะที่กองทุนพยุงหุ้นอยู่ระหว่างศึกษาและจะพิจารณาถึงความจำเป็นต้องใช้ในลำดับต่อไป เนื่องจากปัจจุบันมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกไปแล้วก็มีประสิทธิภาพในการช่วยประคองตลาดหุ้นพอสมควร อีกทั้งการที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ก.ล.ต. ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดพันธบัตรราว 1 ล้านล้านบาทนั้น เชื่อว่าจะช่วยปิดความเสี่ยงของตลาดทุนในอนาคต และพยุงให้ภาวะตลาดปรับตัวได้ดีขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น