คลังย้ำไม่ปิดร้านจำหน่ายสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สกัดโควิด-19
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกเขตท้องถิ่นทั่วราชอาณาจักรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเปลี่ยนศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด หรือ ศอฉ.โควิด เพื่อบูรณาการหน่วยงานราชการให้รวมศูนย์ไว้ที่เดียวให้เกิดการสั่งการอย่างเป็นเอกภาพ รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ เพื่อยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผลตั้งแต่ 26 มีนาคม-30 เมษายน 2563 แม้ว่ามาตรการจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะพยายามบังคับใช้เฉพาะมาตรการเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด
“ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล ขอวิงวอนให้พี่น้องประชาชนร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด และขอฝากไปยังผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมกักตุนและขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตโดยไม่เป็นธรรม ว่า ให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวทันที" นายชาญกฤช กล่าว
นายชาญกฤช กล่าวว่า มาตรการชดเชยรายได้แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยารายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน ได้แก่ 1.ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งออกจากงานหรือไม่ทำงานประจำแล้ว แต่ยังส่งเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคม 2.ลูกจ้างชั่วคราว (ตามสถานประกอบการ สถานบริการ และอื่นๆ) 3.ผู้มีอาชีพอิสระหรือผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่จ่ายเงินสมทบเองเข้ากองทุนประกันสังคม
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีต้องว่างงาน เนื่องจากมีการปิดกิจการชั่วคราวจะได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคมในกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้าง (แต่กำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) โดยกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานจะได้รับเงินในกรณีว่างงานไม่เกิน 180 วัน กรณีรัฐสั่งให้หยุดงานจะได้รับเงินไม่เกิน 90 วัน