xs
xsm
sm
md
lg

บจ.ฉวยจังหวะดัชนีฯ ดิ่งเหว ควักทุนซื้อหุ้นคืนกว่า 7 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ดิ่งเหวฉุดราคาหุ้นของ บจ.ไทยทรุดหนักต่อเนื่อง หลายแห่งจึงเร่งซื้อหุ้นคืนเพราะบริษัทราคาหุ้นถูกจนน่าใจหาย ด้าน ก.ล.ต.เร่งหารือร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แก้ไขกฎกระทรวง เหตุมีกรอบจำกัดของการซื้อ ขณะ 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) บริษัทจดทะเบียนกว่า 25 แห่งประกาศใช้งบกว่า 70,979 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นคืน

ปัจจัยลบจากต่างประเทศที่ถาโถมเข้ากดดันตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี ยังไม่มีปัจจัยไหนที่จะสร้างความเสียหายรุนแรงให้เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างได้เท่า “โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019” หรือ COVID-19 โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาประมาณ 2 เดือน ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องแล้วกว่า 500 จุด จากจุดสูงสุดที่ 1,600.48 จุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 ลงมาต่ำสุดที่ 1,035.17 จุด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เกตแคปสูญหายไปกว่า 5 ล้านล้านบาท จนตลาดหุ้นไทยต้องงัดมาตรการ Circuit Breaker หรือพักการซื้อขายหุ้นเมื่อดัชนีหุ้นปรับตัวลง 10% นำมาใช้เป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทันทีที่เปิดตลาดภาคเช้า ดัชนีหุ้นไทยร่วงกราวรูดลงรวดเดียวกว่า 10% หรือลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,124.84 จุด จนต้องปิดทำการเป็นเวลา 30 นาที จากปัจจัยลบของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กระจายลุกลามไปทั่วโลก และสงครามน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องนำมาตรการ Circuit Breaker มาใช้อีกครั้ง โดยหยุดพักการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที ก่อนจะเปิดการซื้อ-ขายใหม่ และปิดตลาดตอนเย็นด้วยดัชนี 1,114.91 จุด ลดลงไปถึง 134.98 จุด หรือ -10.80%

ต่อมาวันที่ 13 มี.ค. 2563 ทันทีที่เปิดตลาดภาคเช้าดัชนีหุ้นไทยรูดลงรวดเดียว 10% หรือลดลงกว่า 106.15 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,008.76 จุด ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องนำมาตรการ Circuit Breaker มาใช้ต่อเนื่องสองวันติดต่อกัน โดย ตลท.ประกาศหยุดพักการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 09.59 น. ก่อนจะกลับมาเปิดซื้อขายอีกครั้งในเวลา 10.29 น. จากนั้นดัชนีได้ไหลรูดลงต่อเนื่องอย่างรุนแรงวูบเดียวลงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ระดับ 969.08 จุด ลดลง 145.83 จุด

กระทั่งวันที่ 17 มีนาคม 2563 ตลท.ได้มีการประกาศปรับปรุงเกณฑ์พักการซื้อขายหุ้น (Circuit Breaker) จากเดิมที่ 2 ระดับ คือ ดัชนีหุ้นไทยลดลง 10% และ 20% หยุดพักการซื้อขาย มาเป็น 3 ระดับ คือเมื่อดัชนีหุ้นไทยลดลง 8% หยุดซื้อขาย 30 นาที หากดัชนีหุ้นไทยลดลง 15% หยุดการซื้อขาย 30 นาที และเมื่อดัชนีหุ้นไทยลดลง 20% หยุดการซื้อขาย 60 นาที และหลังจากการทำงานระดับที่ 3 ของ Circuit Breaker แล้วจะเปิดให้ซื้อขายต่อไปจนถึงเวลาปิดทำการปกติของรอบการซื้อขายนั้น นอกจากนั้น ยังได้มีการปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor สำหรับทั้ง SET, mai และ TFEX นั้น ที่มีการซื้อขายใน SET, mai ทั้งหุ้น หน่วยลงทุน วอร์แรนต์ DW ETF TSR DR เกณฑ์ Ceiling & Floor จากเดิม 30% เป็น 15% ส่วนกระดานต่างประเทศ Ceiling & Floor จากเดิม 60% เป็น 30% ส่วนตลาด TFEX เกณฑ์ Ceiling & Floor จากเดิม 30% เป็นอัตราใหม่ที่ 15%

จากวิกฤตการปรับตัวลดลงของดัชนี SET INDEX ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการซื้อขายหุ้นที่ดิ่งลงอย่างหนักแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนแทบทุกบริษัทราคารูดลงอย่างน่าตกใจ ดังนั้น จึงทำให้ผู้บริหารหลายบริษัทมิอาจนิ่งเฉย โดยเฉพาะหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง สิ่งที่ตามมาคือ การประกาศซื้อหุ้นคืน เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามาก ซึ่งหากพิจารณาจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าหลังประกาศซื้อหุ้นคืนประมาณ 1 เดือน พบว่ากว่า 61% ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศซื้อหุ้นคืนจะส่งผลต่อราคาหุ้นที่จะปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือ Outperform ประมาณ 2.6% แต่หลังจากที่ประกาศซื้อหุ้นนั้นไปแล้วประมาณ 3 เดือน ราคาหุ้นดังกล่าวนั้นจะทยอยปรับตัวลงและหลังจากนั้น 6 เดือนราคาหุ้นมีโอกาสที่จะลงไปติดลบมากถึง 1.1% ซึ่งการที่ราคาหุ้นจะร่วงลงไปติดลบอยู่ที่กว่า 55% นั้นสะท้อนให้เห็นว่าหลังประกาศซื้อหุ้นคืน ราคาหุ้นจะดีในระยะสั้นเท่านั้น

แต่กระนั้น จากกระแสปัจจัยลบที่กดให้ดัชนีฯ ดิ่งลงและเกิดแรงเทขายอย่างหนักในหุ้นหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลต่อจิตวิทยาความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้นอย่างหนัก ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดทุนอย่างสำนักงานคณะกรรการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ต้องออกมาตรการฉุกเฉินมาเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน และเบรกความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุน

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้กล่าวถึงการหารือร่วมกันกับกระทรวงการคลังและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการไขก๊อกมาตรการเยียวยาความเสียหายว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของการพิจารณาหลักเกณฑ์การปลดล็อกในการซื้อหุ้นคืน ซึ่งได้หารือร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีกรอบจำกัดของการซื้อหากว่าซื้อไปแล้วในช่วงระยะเวลาที่กำหนดเมื่อปีที่ผ่านมาจะไม่สามารถซื้อได้อีก โดย 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) บริษัทจดทะเบียนกว่า 25 บริษัทประกาศใช้งบกว่า 70,979 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นคืนไปแล้ว และบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นยังมีความประสงค์ที่จะซื้อหุ้นคืนเพิ่มเติมอีก แต่ไม่สามารถทำได้เพราะติดหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและการลงทุน ทาง ก.ล.ต.ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงแนวทางแก้ปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับภาคตลาดทุน ทั้งในเรื่องเซอร์กิตเบรกเกอร์ การใช้การขายชอร์ตหรือ Short Selling ไปแล้ว และตอนนี้ก็กำลังพิจารณามาตรการเหมาะสมที่จะปลดล็อกให้ บจ.สามารถซื้อหุ้นคืนได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนซื้อหุ้นคืนในราคาที่เหมาะสมได้

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งได้หารือร่วมกันกับหน่วยงานเศรษฐกิจภาคตลาดทุน ก็ได้ให้ความเห็นว่า หลังจากหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว ก็ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงฯ เพื่อปลดล็อกให้บริษัทจดทะเบียนสามารถซื้อหุ้นกลับคืนได้เพื่อแก้ไขผลกระทบของตลาดหุ้น หลังจากที่นักลงทุนเกิดความกังวลต่อวิกฤตปัจจัยลบที่เข้ามา ส่งผลให้เกิดมีแรงเทขายหุ้นออกไปจำนวนมาก

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนที่ใช้วงเงินซื้อหุ้นคืนมากสุดในครั้งนี้ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ประกาศซื้อหุ้นคืน 135.96 ล้านหุ้น วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่ 20 เม.ย.-19 ต.ค. 63

ขณะเดียวกันยังมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่อีกหลายแห่งที่เดินหน้าโครงการประกาศซื้อหุ้นคืน ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ที่ประกาศซื้อหุ้นคืน 180 ล้านหุ้น โดยใช้งบการเงินในการดำเนินการซื้อหุ้นคืนกว่า 13,000 ล้านบาท บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน 400 ล้านหุ้น ซึ่งจะใช้เงินในการซื้อหุ้นคืน 10,000 ล้านบาท รวมถึง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ที่ประกาศใช้เงินกว่า 3,000 พันล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนกว่า 200 ล้านหุ้น


SCB ทุ่ม 1.6 หมื่นล้านซื้อหุ้นคืน

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แม้จะไม่ใช่หุ้นกลุ่มที่ได้รับผลทางตรง แต่ในฐานะสถาบันการเงินผู้ให้บริการสินเชื่อหลัก เมื่อหุ้นกลุ่มหลักได้รับผลกระทบ ย่อมที่จะส่งผลต่อหุ้นธนาคารด้วยเช่นกัน โดยราคาของหุ้น SCB ตั้งแต่เกิดวิกฤตเชื้อไวรัสแพร่ระบาด ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงไปแล้วกว่า 50% จากราคาสูงสุดในไตรมาส 1/2563 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ 122.50 บาท/หุ้น โดยเวลาเพียง 2 เดือนกว่า หลังจากนั้นราคาหุ้น SCB ทยอยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องต่ำสุดจนมาอยู่ที่ 58.25 บาท/หุ้น ในวันที่ 13 มกราคม 2563 หรือปรับลดลงไปกว่า 64.25 บาท/หุ้น จนที่ประชุมบอร์ดได้มีการลงมติอนุมัติงบ 16,000 ล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อหวังให้ส่วนทุนลดลงและผลักดันให้ ROE เพิ่มขึ้น

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เหตุผลของการอนุมัติซื้อหุ้นคืนครั้งนี้ว่า จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนของธนาคาร เพื่อเป็นการดูแลด้านผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น และเพื่อการบริหารทางการเงิน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารถึงสถานะทางการเงินและขีดความสามารถในการทำกำไร โดยธนาคารยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแรงและเติบโตดีในระยะยาว รวมถึงเพื่อให้ราคาหุ้นของธนาคารสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของธนาคารได้มากยิ่งขึ้น โดยธนาคารกำหนดจะซื้อหุ้นคืนในจำนวนไม่เกิน 135.96 ล้านหุ้น หรือ 4.0% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ภายในวงเงินไม่เกิน 16,000 ล้านบาท เป็นการเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้นคืนเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดหมายว่าการซื้อหุ้นคืนนี้จะส่งผลบวกต่อผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือการเพิ่มขึ้นของกำไรต่อหุ้น การเพิ่มขึ้นของเงินปันผลต่อหุ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ซึ่งธนาคารมีสภาพคล่องส่วนเกินและเงินกองทุนขั้นที่ 1 ในระดับที่สูงมากที่จะสามารถสนับสนุนโครงการซื้อหุ้นคืนนี้ได้อย่างเพียงพอ โดย อนาคตธนาคารสามารถจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนมานี้ออกไป เพื่อนำสภาพคล่องกลับมาใช้ในการลงทุนเพื่อผลักดันการเติบโตของธนาคารเมื่อมีโอกาส

ทั้งนี้ หากเมื่อครบกำหนดระยะการจำหน่ายหุ้นคืนและธนาคารเห็นว่าไม่มีโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมที่จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ธนาคารอาจพิจารณาตัดหุ้นที่ซื้อคืนนี้ และจดทะเบียนลดทุนต่อไป ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการทุนให้มีประสิทธิภาพเพื่อผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น

“ธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงเดินหน้าที่จะสร้างจุดสมดุลของธนาคารในด้านการเติบโตอย่างมีคุณภาพ สร้างขีดความสามารถในการทำกำไรที่ยั่งยืน และการดูแลผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นให้ดีขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งนอกจากธนาคารจะได้เข้าดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ธนาคารเล็งเห็นว่าควรดูแลผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน ธนาคารยังเชื่อมั่นว่าสถานะทางการเงินและขีดความสามารถในการทำกำไรของธนาคารนั้นแข็งแกร่งดีอยู่ และยังมีสภาพคล่องที่เพียงพอหลังจากจบโครงการซื้อหุ้นคืนนี้ด้วย” อาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จะซื้อหุ้นซื้อคืน 400 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.65% ซึ่งใช้วงเงินในการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ของจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว โดยเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2563

ทั้งนี้ หากพิจารณาค่าเฉลี่ยราคาหุ้นย้อนหลัง 30 วันทำการ CPF ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม-12 มีนาคม 2563 เท่ากับ 27.60 บาทต่อหุ้น ส่วนกำไรสะสมและสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทข้อมูลจากงบการเงินตรวจสอบงวดล่าสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 CPF มีกำไรสะสมของบริษัทอยู่ที่ 53,294 ล้านบาท มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่จะซื้อหุ้นคืนอยู่ที่ 13,005 ล้านบาท มีเงินสดคงเหลือจำนวน 1,066 ล้านบาท ขณะเดียวกันประเมินจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เงินปันผลรับ และรับคืนเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 จำนวน 27,350 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในอีก 6 เดือนข้างหน้านับแต่วันที่ซื้อหุ้นคืน และมีเงินสดเหลือเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการซื้อหุ้นคืนตามโครงการ

โบรกฯ มอง บจ.โอกาสเข้าเก็บหุ้นถูก หนุนตัวเลขงบฯ สวย

ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ให้มุมมองต่อการเข้าซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในขณะนี้ว่า การซื้อหุ้นคืน เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบริหารจัดการเงินทุนหรือ Capital Management ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราส่วนทางการเงิน หรือสภาพคล่องของบริษัทปรับตัวดีขึ้น จากจำนวนหุ้นที่ลดลง ทำให้อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้การประเมินมูลค่าต่อหุ้นพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น และจะแสดงออกมาในลักษณะของสัญญาณบวกแก่ผู้ลงทุน ถึงสถานะการเงินที่มีความแข็งแกร่งของบริษัท โดยจะเป็นไปในลักษณะการสร้างความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ที่มูลค่าหุ้นพื้นฐาน ซึ่งโดยมูลค่าแฝงจะมีมูลค่าที่สูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน ที่ถูกปัจจัยลบกดดันให้ปรับตัวลดลงจากภาวะตลาดหุ้นที่มีความผันผวน ทั้งนี้ การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่งจะมีเพียงบางบริษัทที่ต้องการจัดการเงินทุน ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการจ่ายปันผล เพียงแต่แทนที่จะคืนให้กับทุกคน ก็จะคืนให้กับคนที่ต้องการขาย โดยขณะนี้พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่จากหลายอุตสาหกรรมมีความประสงค์ซื้อหุ้นคืน และได้อนุมัติโครงการซื้อหุ้น ซึ่งหากนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ในมือ และต้องการขายคืน ควรพิจารณาเป็นรายกรณีไป

อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ ให้มุมมองว่า แนวโน้มการซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินมั่นคง มีฟันด์โฟลด์สภาพคล่องเงินสดในมือจำนวนมากที่จะเทเข้าไปซื้อหุ้นคืนได้ ซึ่งช่วงเวลาเหมาะสมที่ บจ.ส่วนใหญ่จะซื้อหุ้นคืน จะเป็นช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นผันผวน ดัชนีมีการปรับตัวลดลงรุนแรง โดยเฉพาะช่วงราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวลงต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หรือไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของบริษัทดังที่ควรจะเป็น

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าราคาหุ้นในมุมมองของผู้บริหารมีราคาถูกกว่าปัจจัยพื้นฐานของหุ้น ประจวบกับการที่ภาวะโดยรวมของตลาดมีความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบ ซึ่ง การที่ราคาหุ้นของบริษัทลดลงมากกว่าปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีบ่อยนัก จึงถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะเข้าซื้อหุ้นกลับคืนมา ขณะเดียวกัน บริษัทส่วนใหญ่ที่จะซื้อหุ้นคืนนั้น มักกันเงินสดสำรองไว้ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ แถมประหยัดงบในส่วนของภาษีที่ต้องจ่ายปันผลออกไป และทำให้ตัวเลขภาพรวมทางบัญชีสวยดูดีขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น