xs
xsm
sm
md
lg

ดู เดย์ ดรีมส่งซิกปี 63 รับรู้รายได้กลุ่มบริษัท “คิวรอน” 10 เดือน ดันผลดำเนินงานปี 63 เติบโตแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดู เดย์ ดรีม” ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัท “คิวรอน” 76% เล็งปี 2563 รับรู้รายได้ 10 เดือน หนุนผลการดำเนินงานสดใส พร้อมกางแผนธุรกิจนำ OXE’CURE บุกตลาดฟิลิปปินส์เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นายปิยวัชร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) หรือ DDD เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสเนลไวท์ เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท คิวรอน จำกัด และ บริษัท อเล็กซี่ เทรนนิ่ง แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด (กลุ่มบริษัท “คิวรอน”) จำนวน 76% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้ว เพื่อขยายธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม ในประเภทสินค้าใหม่ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่ทั้งในธุรกิจอุปกรณ์ดูแลผมและผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากผ่านแบรนด์สินค้า ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น อุปกรณ์จัดแต่งทรงผม LESASHA และยาสีฟัน SPARKLE อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญในการให้ความรู้และคำแนะนำด้านการขาย การสาธิตสินค้า และตัวแทนขายต่างๆ

อีกทั้งการซื้อหุ้นครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Synergy) เช่น การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการขายผ่านช่องทาง Online ของคิวรอน และการนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัท “คิวรอน” ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ผ่านผู้จัดจำหน่าย (Distributor) ของบริษัท เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไร และสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างมั่นคง

ขณะเดียวกัน บริษัทคาดว่าผลประกอบการปี 2563 น่าจะเติบโตกว่าปีก่อน เนื่องจากปีนี้จะมีการรับรู้รายได้จากกลุ่มบริษัท “คิวรอน” ประมาณ 10 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องดูสถานการณ์แพร่ระบาด และการเฝ้าระวังของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ควบคู่ไปด้วย เพราะว่าสถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทต้องมีการปรับแผนการออกสินค้าใหม่ รวมถึงยังได้มีการปรับแผนโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้อีกด้วย

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีการให้ความสำคัญต่อตลาดต่างประเทศ โดยตลาดต่างประเทศบริษัทจะเน้นการขยายตลาดในประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากผลิตภัณฑ์สเนลไวท์ได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้ในปีนี้บริษัทจะยังคงผลิตภัณฑ์เดิม และจะมีการขยายตลาดด้วยการนำอ๊อกซี่เคียว (OXE’CURE) เข้าไปจำหน่าย เพื่อสนับสนุนผลการดำเนินงานให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ บริษัทยังคงมองหาการเข้าร่วมลงทุน (Joint Venture) และการควบรวมกิจการ (M&A) อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีแหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดของบริษัท หรืออาจร่วมกับการใช้เงินกู้ในสัดส่วนที่เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น