บล.หยวนต้าฯ ปรับลดเป้ากำไรกลุ่มแบงก์ปีนี้เหลือ 156,649 ล้านบาท หดตัวจากปีก่อน 0.3% หลังปัจจัยลบรุมกระหน่ำรอบด้าน ทั้ง COVID-19 ภัยแล้ง กำลังซื้อหด ฉุดจีดีพีดิ่ง ขณะที่ภาพรวมแบงก์เพิ่มความระมัดระวังการให้สินเชื่อ กังวล NPL-เกณฑ์ตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ แถมยังแบกภาระลูกหนี้ SME กดดันซ้ำ แนะคงน้ำหนักลงทุนเท่าตลาด แต่ยังยก TMB-BBL เป็น Top Pick
ปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน
บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ได้ปรับกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ลง เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ได้ลุกลามเป็นปัญหาเศรษฐกิจกระทบงบการเงินกลุ่มธนาคารในหลายด้าน โดยดัชนี SETBANK ปรับลง 21.9% YTD หลังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนได้จากการทยอยปรับลดประมาณการ GDP ของหลายหน่วยงาน จนปัจจุบัน Bloomberg Consensus คาดว่า GDP ปี 2563 จะโต 2% YoY (หยวนต้าคาดโต 1.6% YoY) หลังจากถูกกระทบด้วยการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยลดลงมาก ส่งผลลบต่อธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม และสายการบิน รวมทั้งมีผลทางอ้อมต่อผู้ประกอบการ SME จากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนตัวลงมาก
นอกจากนี้ ในช่วงกลางปีคาดว่าจะถูกซ้ำเติมด้วยภัยแล้งกดดันกำลังซื้อ และความสามารถในการชำระเงินของภาคเอกชน ซึ่งมีผลต่อกลุ่มแบงก์ ดังนี้
1) แบงก์เพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าหนี้ที่ให้สินเชื่อไปจะกลายเป็น NPL และกระทบต่อการตั้งสำรองในอนาคต เราจึงคาดอัตราโตของสินเชื่อในปีนี้ของแบงก์ภายใต้ coverage ของเราจะลดลงเหลือเพียง 2.6%YoY จากเดิมคาดที่ 5.2%YoY
2) การตั้งสำรองภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ อ่อนไหวต่อภาวะ ศก. ตาม TFRS9 การตั้งสำรองจะอิงกับ Expected Credit Loss Model ซึ่งจะคำนวณจากหลายปัจจัย รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่สดใส การตั้งสำรองของแบงก์จะเร่งตัวเพิ่มขึ้น (Probability to Default สูงขึ้น)
3) ธปท.ให้แบงก์ช่วยออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 มาตรการส่วนใหญ่เน้นช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ผ่านการเพิ่มสภาพคล่อง, พักชำระหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้การรับรู้รายได้ดอกเบี้ยรับของแบงก์ลดลง ทั้งนี้ขนาดของความรุนแรงจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่ามีลูกหนี้ผ่านเกณฑ์พิจารณาเข้าโครงการมากน้อยเพียงใด โดยเราคาดลูกหนี้กลุ่ม SME จะมีการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด เพราะสามารถประเมินผลกระทบผ่านรายได้ที่ลดลงชัดเจนกว่ากลุ่มอื่น อีกทั้งมีสถานะทางการเงินไม่แข็งแรงนัก
4) กนง.มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกในปีนี้ แม้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้งตั้งแต่ช่วง 2H62 จนปัจจุบันดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ที่ 1.00% แต่เรามองว่ายังมีโอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 สอดคล้องกับนโยบายของ Fed ที่เร่งลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 50 bps ในการประชุมฉุกเฉินวันที่ 3 มี.ค. ส่วนในไทย Bloomberg Consensus คาดดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี 2563 จะอยู่ที่ 0.75% (นักวิเคราะห์ 12 จาก 19 คนคาดที่ 0.75%) กดดัน NIM ของหุ้นในกลุ่มแบงก์ให้ยังมีโอกาสปรับลงต่อ
หั่นกำไรทั้งปีหดตัว 0.3%-TMB กำไรเด่นสุด
ฝ่ายวิจัยมองว่าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง หุ้นกลุ่มแบงก์จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากเพื่อยึดหลักอนุรักษนิยม เราจึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของหุ้นในกลุ่มแบงก์เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงดังกล่าว โดยภายใต้ประมาณการใหม่คาดกลุ่มแบงก์ภายใต้ Coverage จะมีกำไรปกติปี 2563 ราว 156,649 ล้านบาท หดตัว 0.3%YoY โดย TMB คาดกำไรโตเด่นสุดในกลุ่ม 107.6%YoY หลังรวมงบการเงินของ TBANK เข้ามาในงบการเงินรวมเต็มปีเป็นครั้งแรก และรับรู้ผลจาก Synergy ในด้าน Balance Sheet และ Operation Cost ที่จะปรับตัวลง
ส่วนกลุ่มแบงก์ใหญ่เรายังแนะนำเป็น BBL ที่มีแรงหนุนจากการปรับลดความเข้มงวดของนโยบายตั้งสำรอง หลังจากมีการตั้งสำรองในระดับสูงมานาน 3 ปี จนมี Coverage Ratio สูงสุดในกลุ่ม อีกทั้งในช่วง 3Q63 ยังมี Upside Risk จากการรวมงบของ Permata เข้ามาในงบการเงินรวม
คงน้ำหนักการลงทุนของกลุ่มที่ “เท่ากับตลาด” โดยแม้กำไรของกลุ่มมีแรงกดดันรอบด้านภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ราคาหุ้นของแบงก์ส่วนใหญ่ปรับตัวลงแรง 15.2-36.3% สะท้อนความกังวลต่อผลประกอบการไปมากแล้ว อีกทั้งหลังปรับสมมติฐานในการ Valuation ของหุ้นในกลุ่มให้สะท้อนปัจจัยทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันพบว่าราคาหุ้นในกลุ่มหลายตัวยังมี Upside และ Div. Yield อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
เลือก TMB (TP@1.39) เป็น Top Pick ของกลุ่ม โดยคาดเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของสินเชื่อและเงินฝากในทางที่ดีขึ้นตามแผน Balance Sheet Optimization ส่วนแบงก์ใหญ่เราแนะนำ BBL (TP@164) คาดกำไรมี Downside ต่ำกว่ากลุ่ม หลังเตรียมรับรู้กำไรจาก Permata ตั้งแต่ 3Q63 และนโยบายตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลงมากจากปีก่อน