xs
xsm
sm
md
lg

ทิสโก้ปรับเป้าจีดีพีเหลือ 0.8%-ความเสี่ยงติดลบยังมี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



TISCO ESU คาดจีดีพีไทยปี 2563 โตเพียง 0.8% ต่ำสุดในรอบ 9 ปี และยังมีความเสี่ยงว่าทั้งปีนี้จะติดลบ หากสถานการณ์ COVID-19-ภัยแล้ง-ราคาน้ำมันร่วงแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ประเมินกนง.หั่นดอกเบี้ยลงอีกครั้งเวันที่ 25 มี.ค.นี้

นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ธนาคารทิสโก้ (TISCO ESU)เปิดเผยว่า TISCO ESU ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปี 2563 ลงมาอยู่ที่ 0.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตของ GDP ที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากรายได้ของภาคการท่องเที่ยวที่แย่ลงอย่างมีนัยยะ ประกอบกับห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนปิดเมือง รวมทั้งอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่อ่อนแอลง

ทั้งนี้ พัฒนาการของสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้เดิม ทั้งจากการแพร่ระบาดนอกประเทศจีน และตัวเลขเบื้องต้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน 5 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และภูเก็ต ในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคมที่หดตัวลงแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์หดตัว 46% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในระหว่างวันที่ 1-6 มีนาคม 2563 หดตัวถึง 58% ดังนั้น จึงได้ปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเดิมคาดว่าจะลดลงเพียง 2.2 ล้านรายหรือลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นปรับลดลง 7.3 ล้านรายหรือลดลง 18% ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.5 ล้านคนเท่านั้น

นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยยะ TISCO ESU คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 0.25% ไม่เกินช่วงไตรมาส 2 นี้ เร็วที่สุดคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม 2563 หลังจากได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว 0.25% ในการประชุมวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

รวมทั้งมองว่ามีโอกาสที่ GDP ทั้งปีอาจจะติดลบได้ในปีนี้ จากความเสี่ยงสำคัญหลายประการ ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีอยู่สูง อาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่เราคาดไว้ในกรณีฐาน 2) ความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจแย่กว่าคาด ซึ่งก่อนหน้านี้ประเมินว่าภัยแล้งจะลากยาวเพียง 5 เดือนคือระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.2% 3) ความไม่สงบของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และ 4) ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน แม้ว่าจะส่งผลบวกในด้านต้นทุนพลังงานที่ต่ำลง ลดค่าครองชีพของครัวเรือน ลดต้นทุนขนส่งของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงลง รวมถึงช่วยลดแรงกดดันต่อการขาดดุลการค้าในหมวดพลังงาน เนื่องจากไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ แต่จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าที่พึ่งพิงรายได้จากการขายน้ำมัน เช่น รัสเซียและตะวันออกลางให้แย่ลง ก็อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงไปมาก ส่งผลให้ CDS Spread ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (เสมือนเป็นต้นทุนของการซื้อประกันความเสี่ยงจากโอกาสผิดนัดชำระของลูกหนี้ ยิ่งตัวเลขนี้สูง ยิ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระ) ของไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าระดับ 0.50% และสูงขึ้นราวเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี แม้ยังต่ำกว่าระดับในช่วงวิกฤตซับไพร์ม ปี 2551-2552, น้ำท่วม ปี 2554 และวิกฤตราคาน้ำมันที่ต่ำ ปี 2557-2559 แต่ก็สะท้อนว่าตลาดกำลังกังวลมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจและฐานะการเงินของตราสารที่ตนเองถือครองอยู่ ไม่ว่าจะเกิดจากความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง หรือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่ต้องจับตา

ด้านสำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ใช้โมเดลจากอ๊อกฟอร์ดอิโคโนมิกส์ คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ของประเทศสำคัญ (เทียบกับฐาน) กรณีราคาน้ำมันร่วงลง 50% พบว่า
กลุ่มอาเซียนสำคัญ ประเทศที่ GDP จะได้รับอานิสงส์มากที่สุดคือ ประเทศฟิลิปปินส์ เพราะเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิปริมาณมาก สำหรับประเทศไทย GDPจะได้รับผลที่ดีขึ้นราว 0.3% เทียบกรณีฐาน เช่น ล่าสุดสำนักวิจัยฯ คาดการณ์ GDP ขยายตัวได้ 1.7% ก็อาจสูงขึ้นเป็น 2.0% แต่อาจปรับลดประมาณการณ์จากปัญหาไวรัสโควิดแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น