“อุตตม” เผยประชุมร่วมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย เล็งหารือร่างมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมกำหนดแนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย ผุดโครงการ “บอร์นละบาท” หวังเปิดโอกาสประชาชนเข้าถึงพันธบัตรมากขึ้น โปรยยาหอมเพิ่มวงเงินการลดหย่อนภาษีกองทุนรวมเพื่อการออม หวังดึงดูดนักลงทุน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2563 ว่าได้มีการหารือกับส่วนงานกำกับตลาดทุนใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1. ภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุน การกำกับดูแลตลาดทุน ทั้งผู้ลงทุนและผู้ประกอบการที่เข้ามาระดมทุน ภายใต้ภาวะที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ 2. มาตรการกำหนดแนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว โดยในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเพิ่มวงเงินการลดหย่อนภาษีกองทุนรวมเพื่อการออม (เอสเอสเอฟ) เพิ่มเติมอีก 2 แสนบาท จากเดิมสามารถลดหย่อนภาษีร่วมกับกองทุนประเภทอื่นๆ ได้ไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งจะเปิดให้ซื้อขายกองทุนเอสเอสเอฟ ที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป
“มาตรการระยะสั้นประได้ประกาศออกมาบางส่วนแล้ว ขณะที่ในส่วนมาตรการระยะยาว ได้มีการวางแผนในการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อให้สามารถส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย ให้ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในเวทีสากล ซึ่งต้องย้อนกลับมามองว่าตลาดทุนมีแผนงานในด้านใดบ้าง อาทิ การยกระดับการเข้าถึงตลาดทุนของประชาชนทั่วไปในวงกว้าง รวมถึงผู้ประกอบการที่จะเข้ามาระดมทุน สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีต่างๆ ซึ่งการเข้าถึงประชาชน จะใช้เครือข่ายสถาบันทางการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน รวมถึงธนาคารกรุงไทย มาช่วยพัฒนาตลาดทุนไทยร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปในระดับฐานราก เข้าถึงตลาดทุนไทยมากขึ้น โดยจะเสริมองค์ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะในการบริหารการเงิน รวมถึงตลาดทุน ภายใต้แผนการพัฒนาตลาดทุนไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมมือในการยกแผนดำเนินการเสริมทักษะในระดับชุมชน นอกเหนือจากชุมชนเมือง ในรูปแบบที่เหมาะสมในเชิงปฎิบัติ อาทิ การบริหารการเงินในระดับชุมชน ครอบครัว ซึ่งจะหาทางเข้าไปเสริมทักษะให้คนกลุ่มนี้เพิ่มเติม” นายอุตตมกล่าว
ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดทุน ยังต้องให้การสนับสนุนแก่ประชาชนให้สามารถเข้าถึงการลงทุนได้หลากหลาย ในวงกว้าง โดยนำร่องด้วยโครงการ “บอร์นละบาท” ซึ่งตั้งใจจะเปิดให้ประชาชนซื้อพันธบัตรออกใหม่ได้ในอัตราหน่วยละ 1 บาทเท่านั้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยลดต้นทุนการออกบอร์น ผลที่ตามมาคือสามารถเสนอขายบอร์นขั้นต่ำได้ถูกลงจากเดิมขั้นต่ำอยู่ที่หน่วยละ 1,000 บาท โดยพบว่าผู้ลงทุนสนใจลงทุนในราคาหน่วยละประมาณ 50-100 บาท ปัจจุบันสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก.ล.ต. และ ตลท.อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและระบบการขายบอร์นซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถออกบอนด์ในโครงการบอนด์ละบาทได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563
ขณะที่โครงการสนันสนุนให้ “เอสเอ็มอี” สามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้นั้นจะช่วยผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่ แต่ยังไม่มีความพร้อมในการเข้าตลาด ให้สามารถเข้าใจในระบบต่างๆ โดยจะมีการสร้างตลาดใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่ากระดานตลาดหุ้นที่ 3 เพื่อรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าตลาดเฉพาะ ซึ่งรูปแบบการเทรดจะไม่เหมือนตลาด SET หรือตลาด mai การซื้อขายก็จะแตกต่างกัน โดยคาดว่าในต้นปี 2564 จะเริ่มเห็นการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน คลังและหน่วยงานที่กำกับตลาดทุน ได้ร่วมกันสร้างขีดความสามารถของตลาดทุนไทยให้แข่งขันได้ โดยหน่วยงานในตลาดทุนไทยจะร่วมกันพัฒนาและสร้างโครงข่ายพื้นฐานรองรับการทำงานของตลาดทุน การซื้อขายต่างๆ ให้เป็นดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดต้นทุนในการออกหลักทรัพย์สำหรับผู้ประกอบการ เปลี่ยนมาจัดส่งข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุน และเพื่อรองรับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งโครงข่ายดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการรับส่งข้อมูลและสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยแนวความคิดคล้ายกับพร้อมเพย์ที่พัฒนาแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือในตลาดทุน โดยคาดว่าประมาณไตรมาส 3 ปี 2563 ระบบจะมีความพร้อมใช้งานมากขึ้น
ขณะที่ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ยังเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ การปรับลดค่าธรรมเนียมประจำปีให้แก่ บจ.ที่ส่งงบการเงินตรงเวลาและมีความประพฤติดี โดยบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 500 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมประจำปีทั้งหมด ส่วนบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 500 ล้านบาท จะพิจารณาลดค่าธรรมเนียมให้ 30% รวมถึงจะพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ตราสารหนี้เอกชน (หุ้นกู้) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดูแลผู้ประกอบการใน ตลท.ต่อไป
นอกจากนี้ กรณีที่ ครม.มีมาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยการปรับเงื่อนไขกองทุนเอสเอสเอฟ สามารถหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มอีก 2 แสนบาท จากเดิมหักลดหย่อนได้ 2 แสนบาท สำหรับการลงทุนในช่วง 1 เมษายน - 30 มิถุนายนนี้ โดย ก.ล.ต.จะออกเกณฑ์รูปแบบการดำเนินการเร็วที่สุดภายในวันที่ 16 มีนาคมนี้ เพื่อดูแลผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุน ซึ่งเชื่อว่าในวันที่ 1 เมษายนนี้ จะพร้อมออกกองทุนเอสเอสเอฟ เพราะเชื่อว่าไม่ได้มีความซับซ้อนมากเกินไป
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยบ้างแล้ว อาทิ การผ่อนผันการนำส่งงบการเงินให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีธุรกิจหลักอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดให้ บริษัทจดทะเบียนสามารถจัดประชุมสามัญประจำปี (เอจีเอ็ม) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และขยายเวลาการจัดประชุมออกไปจนถึง 30 มิถุนายน 2563 เปิดให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สามารถทำงานจากบ้านในกรณีจำเป็นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีบล.ดำเนินงานที่บ้านแล้ว 5 แห่ง รวมถึงการปรับปรุงเกณฑ์ดำรงเงินกองทุนในการจัดจำหน่ายหุ้นที่เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ)