หุ้นโรงไฟฟ้าปี 2563 ยังขยายตัวต่อ แม้ต้องเผชิญหลายปัจจัยลบทั้งภายในและต่างประเทศกดดัน นำทีมโดย RATCH GULF และ GPSC หลังจากหลายโครงการที่ลงทุนทยอยผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ต่อเนื่อง ดันกำลังผลิตไฟฟ้าในมือขยายตัว
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามีแรงขายออกมาจำนวนมาก จนกดดันให้ราคาหุ้นหลายบริษัทปรับตัวลดลง โดยสาเหตุที่ราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับลดลงแรง ส่วนหนึ่งมาจากราคาหุ้นในช่วงก่อนหน้านี้ปรับขึ้นค่อนข้างมาก ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเริ่มมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ โดยลูกค้าภาคอุตสาหกรรมในนิคมฯเริ่มซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ลดลง
นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเรื่องภัยแล้งที่กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าปีนี้จะรุนแรงสุดในรอบ 40 ปี โดยที่ผ่านมากรมชลประทานได้ขอความร่วมมือกับผู้ใช้น้ำทุกฝ่ายประหยัดมากขึ้นราว 10% จากเดิม ซึ่งทั้งโรงไฟฟ้า SPP และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ต้องใช้น้ำผลิตไฟฟ้าลดลง ส่งผลทำให้โรงไฟฟ้ามีรายได้จากการขายไฟต่ำกว่าที่ตลาดคาด จนอาจทำให้กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2563 ปรับตัวลดลง ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยที่กดดันหุ้นโรงไฟฟ้าคือค่าเงินบาทอ่อนค่า เพราะผู้ประกอบกอบธุรกิจโรงไฟฟ้ารายใหญ่หลายรายที่มีหนี้เป็นสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้ผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูล ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 5 บริษัท พบว่าแต่ละบริษัทยังเชื่อมั่นว่าผลดำเนินงานในปี 2563 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ที่ลงทุนเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปีนี้ ซึ่งแต่ละบริษัทมีแผนธุรกิจที่แตกต่างกันไป ดังนี้
RATCH เดินหน้าโตต่อเนื่อง
ผลดำเนินงานในปี 2562 ของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH พบว่ากำไรสุทธิ 5.96 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.58 พันล้านบาท เป็นผลจากการเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม Mount Emerald และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Collinsville และการเข้าซื้อกิจการ บจ.ราช โคเจนเนอเรชั่น ส่งผลให้รายได้จากการขายและการให้บริการ รวมทั้งต้นทุนขายและการให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังรับรู้กำไรของ Fareast Renewable Development Pte Ltd และ บริษัท เบิกไพร โคเจนเนอเรชั่น จำกัด โดยมีรายได้จากการขายและให้บริการ 7.88 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.2% จากรายได้ค่าขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า ในปี 2563 บริษัทวางเป้าหมายจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก 780 เมกะวัตต์ (MW) ส่งผลให้ภายในสิ้นปี 2563 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 8,715.07 MW หลักๆ เพื่อเป็นการหากำลังการผลิตใหม่ทดแทนสัญญาเดิมที่ใกล้หมดอายุ ซึ่งในปีนี้จะมีโครงการโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะปลดจากระบบในปีนี้ ขนาดกำลังผลิต 720 MW
ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาควบรวมกิจการ (M&A) โครงการผลิตไฟฟ้า 5 โครงการ แบ่งออกเป็นโครงการภายในประเทศ 2 โครงการ และต่างประเทศ โดยคาดว่าภายในช่วงไตรมาส 1/2563 จะได้ข้อสรุปไม่น้อยกว่า 1 โครงการภายในไทย มูลค่าไม่เกิน 5 พันล้านบาท ขนาดกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 100 MW ซึ่งเป็นโครงการประเภท SSP ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอยได้ข้อสรุปภายในปีนี้ทั้งหมด
ทำให้ RATCH ตั้งงบลงทุนรวมในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือดำเนินการ ส่วนอีก 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการลงทุนใหม่ หรือการเข้าซื้อกิจการเพิ่มในปีนี้ ด้านแหล่งเงินทุนนั้นบริษัทมีแผนในการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม เพื่อรองรับโครงการต่างๆ เบื้องต้น บริษัทมีการประชุมผู้ถือหุ้นได้ขอไว้เรียบร้อยแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้
แนวโน้มธุรกิจ : บล.เคจีไอ ประเมินทิศทางธุรกิจ RATCH ว่า ผู้บริหารไม่ห่วงผลกระทบจากภัยแล้งต่อผลการดำเนินงาน เพราะโรงไฟฟ้าทั้ง IPP และ SPP ของ RATCH ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตก และภาคกลางของประเทศไทย แต่ได้ปรับลดประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักปี 2563 ลง 2.0% จากผลกระทบของภัยแล้ง พร้อมปรับเพิ่มคำแนะนำหุ้น RATCH จากถือเป็นซื้อ และให้ราคาเป้าหมาย 76.00 บาท เนื่องจากประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักปีนี้ยังมี upside อีกถึง 11% อีกทั้งมีแผนขยายกำลังการผลิตที่น่าสนใจ และมี downside จากภัยแล้งจำกัด
GULF ยังขยายตัวไม่หยุด
สำหรับผลดำเนินงานงวดปี 2562 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มีกำไรสุทธิ 4.88 พันล้านบาท เติบโต 61.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ โรงไฟฟ้า รวมทั้งกำไรพิเศษจากอัตราแลกเปลี่ยน 1.37 พันล้านบาท โดยกำไรสุทธิไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.2% ส่วนรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.8% จากการรับรู้ยอดขายโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 12 โครงการในกลุ่ม GMP และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์ 2 โครงการ ในเวียดนาม เทียบกับโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพียง 8 โครงการ ในปี 2561
ล่าสุด GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ที่จะจัดในวันที่ 8 เม.ย นี้พิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) ของบริษัทจากเดิมมูลค่าหุ้นละ 5 บาท เป็น 1 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขายหุ้นของบริษัทแก่นักลงทุน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพาร์ ดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อทุนจดทะเบียน ทุนที่ออกชำระแล้วและ สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นปัจจุบันซึ่งมีทุนจดทะเบียนและทุนที่ออกชำระแล้ว 1.06 หมื่นล้านบาท พาร์หุ้นละ 5 บาท มีจำนวนหุ้น 2.13 พันล้านหุ้น ภายหลัง แตกพาร์เหลือ 1 บาท จะมีจำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 1.06 หมื่นล้านหุ้น
นอกจากนี้ บริษัท กัลฟ์ จะนะ กรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% และเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กัลฟ์ จะนะ กรีน (GCG) ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 มีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 25 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี และได้รับส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) พิเศษอีก 1.3 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปี
แนวโน้มธุรกิจ : บล. เอเอสแอล จำกัด ประเมินทิศทาง GULF ว่าระยะยาวยังเติบโต โดยกำลังการผลิตปี 2563-68 ขยายตัว 22.5% จากการพร้อมรับรู้รายได้อีก 5 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการโรงไฟฟ้า SPP ชีวมวล GCG ที่จังหวัดสงขลา กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ (MW) เริ่ม COD สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มีความคืบหน้าด้านก่อสร้างไปแล้ว 95.1% และ 2. โครงการโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ GSRC กำลังการผลิต 2,650 MW เริ่ม COD ปี 2564-65 มีความคืบหน้าด้านก่อสร้างไปแล้ว 52.2% ส่วนลำดับที่ 3. โครงการโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ GPD กำลังการผลิต 2,650 MW เริ่ม COD ปี 2566-67 ขณะที่ 4.โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP กำลังการผลิต 326 MW ที่โอมาน ณ สิ้นปี 2562 เสร็จไปแล้ว 52.5% และ 5. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม COD กำลังการผลิตไม่เกิน 310 MW ที่เวียดนาม แบ่งเป็น 8 เฟส โดยเฟส 1 กำลังการผลิต 30 MW สามารถเริ่ม COD ปลายปี 2563 เป็นต้นไป
ส่วน แนวโน้มไตรมาส 1/63 คาดกำไรปกติคาดเติบโตจากรายได้ JVs ในกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP ที่มีความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้น และการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเวียดนามที่แข็งแกร่ง แนะนำ "ถือเก็งกำไร" จากบอร์ดมีมติลด Par จาก 5.00 บาท เป็น 1.00 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้นักลงทุน โดยจะมีจำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 1.06 หมื่นล้านหุ้น อย่างไรก็ตามแม้ไม่กระทบด้านพื้นฐาน แต่อาจเห็นแรงเก็งกำไรระยะสั้น
GPSC ยังเติบโตได้อีกยาว
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC คาดว่า การดำเนินงานในปี 2563 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีการรับรู้ผลประกอบการจาก บมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW ที่เข้ามาแบบเต็มปี รวมไปถึงการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยายกำลังการผลิตตามสัดส่วน 18 เมกะวัตต์ (MW) และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะกำลังการผลิต 9 MW ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/2563 และไตรมาส 2/2564 ตามลำดับ
สำหรับผลประกอบการปี 2562 มีกำไรสุทธิ 4.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และมีรายได้รวม 6.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 168% เมื่อเทียบกับปี 2561 เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการควบรวม GLOW และมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าระบบเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างทางการเงินตามแผนการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำล ขณะเดียวกัน GPSC ยังคงแสวงหาโอกาสเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ คาดว่าในปีนี้จะได้ข้อสรุปการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศอาเซียน
แนวโน้มธุรกิจ: บล.กสิกรไทย ปรับเพิ่มคำแนะนำในหุ้น GPSC เป็นถือ จากเดิมแนะนำขาย หลังราคาหุ้นปรับตัวลง 18% เมื่อเดือนก่อนจากความกังวลเงินบาทที่อ่อนค่า ระดับน้ำที่ต่ำในไทย และอุปสงค์จากลูกค้าอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม มองว่าการขยายกำลังการผลิตจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการเติบโตในระยะยาวของ GPSC ขณะที่บริษัทกำลังเจรจาเพื่อขยายพอร์ตด้านโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไทย รวมถึงศักยภาพที่จะ ขยายกำลังการผลิตในต่างประเทศร่วมไปกับกลุ่ม ปตท.
นอกจากนี้ คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 1/2563 ของ GPSC จะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากกำลังการผลิตที่มากขึ้น และส่วนต่างราคาพลังงานที่สูงขึ้น คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะปรับลดลงหากพิจารณาถึงช่วงเหลื่อมจากราคาน้ำมันดิบ และราคาถ่านหินที่ลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงและอุปสงค์นำเข้าที่ลดลงจากประเทศจีน
EGCO แม้กำไรลดแต่ยังแข็งแกร่ง
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยว่า สำหรับแผนกลยุทธ์ประจำปี 2563 เอ็กโกได้ขยายทิศทางการลงทุน โดยมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความ แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ต่อยอดไปสู่การลงทุนในธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิง และแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจ ใหม่ด้าน Smart Energy Solution เสริมด้วยกลยุทธ์ทางด้านการเงินที่จะมุ่งเน้นการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุน ในระดับที่แข่งขันได้ พร้อมทั้งลดความเสี่ยงทางด้านการเงินเพื่อเพิ่มระดับความสามารถในการแข่งขัน
ล่าสุด บริษัท ฯ รายงานผลประกอบการปี 2562 มีกำไรจากการดำเนินงาน 1.03 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี ก่อนที่ทมีกำไร 1.3 หมื่น ล้านบาท เนื่องจาก เอ็กโก พลัส : ผลประกอบการลดลง 2.37 พันล้านบาท จากดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ยืมจาก เอ็กโก ซึ่งเป็นดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ยืมสำหรับใช้ลงทุนในพาจู อีเอส และรายได้อื่นลดลง เช่นเดียวกับ “บีแอลซีพี” ผลประกอบการลดลง 1.02 พัน ล้านบาท สาเหตุหลักจากรายได้ค่าไฟฟ้าจากความ พร้อมจ่าย (AP) ลดลงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า อีกทั้งดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายในการ บริหารทั่วไปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ “เอ็นทีพีซี” ยังมีผลประกอบการลดลงจำนวน 175 ล้านบาท สาเหตุหลักจากรายได้ค่าขายไฟฟ้าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และต้นทุนขาย เพิ่มขึ้น
แนวโน้มธุรกิจ : บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินทิศทาง EGCO ว่า คาดหมายจะเห็นกำไรจากการดำเนินงานปกติไตรมาส 1/63 กลับมาฟื้นตัวตามฤดูกาล จากกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP (สัดส่วนรายได้ 43% ของรายได้รวม) รวมทั้งกำไรจากโครงการ Paju ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลประกอบการรวมในปี 2563 คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% แต่ยังมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ยังคงต้องติดตามประเด็นภัยแล้งที่จะส่งผลกรทะบต่อการผลิตไฟฟ้าในปี 2563 โดยเฉพาะโครงการไซยบุรี (EGCO ถือหุ้น 12.5%) เริ่มผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ 29 ต.ค.
ทั้งนี้ ราคาหุ้น EGCO ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ปรับลดลงกว่า 18.8% ราคาหุ้นที่ปรับลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากแผนการลงทุนของบริษัทที่ยังไม่มีโครงการใหม่ หรือโครงการขนาดใหญ่เข้ามา โดยแผนขยายกำลังผลิตปัจจุบันบริษัทมีเพียง 3 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะทยอยผลิตไฟฟ้าระหว่างปี 2563 - 2565 ซึ่งจะเพิ่มกำลังผลิตอีก 3% ภายในปี 2565 จากกำลังผลิตปัจจุบันที่ 5,475 เมกะวัตต์ (ณ สิ้นปี 2562) อย่างไรก็ตามมองว่า EGCO เป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยสิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินสดในมือกว่า 2 หมื่นล้านบาท และหนี้สินต่อทุนสุทธิ (งบการเงินรวม) อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.98 เท่า ทำให้เชื่อว่าบริษัทจะยังคงมองหาโอกาสในการขยายกำลังผลิตเพิ่ม เป็น Upside ของ EGCO ระยะยาว
BGRIM การดำเนินงานยังขยายตัว
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM รายงานว่าบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการปี 2562 อยู่ที่ 4.41 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปีก่อน 20.6% และมีกำไรสุทธิจากงบการเงินรวมอยู่ที่ 3.97 พันล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 2.33 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 25.1% อันเนื่องมาจากการขยายกำลังการผลิตถึง 40% จากโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งจากการเข้าซื้อกิจการและการพัฒนาโครง การใหม่ รวมถึงสามารถประหยัดเชื้อเพลิงจากการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซของโรงไฟฟ้าจากพลังความร้อนร่วม 2 โครงการ และการลดต้นทุนทางการเงินจากการรีไฟแนนซ์เงินกู้ด้วย
ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าระดับโลกที่มีความมั่นคงระดับสูงเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาพรวมการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 2563 ยังคงแข็งแกร่ง ด้วยปริมาณการขายไฟในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันก่อนปีก่อน นอกจากนี้ยังมีลูกค้ารายใหม่อีกหลายรายที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 23 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดการทยอยเชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้าของบริษัทในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563
ขณะเดียวกันยังคงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากกว่า 1,000 ราย ในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทตั้งอยู่ แต่ยังไม่ได้ให้บริการ มั่นใจทะลุเป้าหมายกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ และขณะนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสลงทุนในโครงการใหม่ร่วมกับพันธมิตรอีกหลายโครงการทั้ง ในประเทศ และต่างประเทศ อีกทั้งมีแผนควบรวมกิจการอีกหลายแห่ง จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการและอยู่ระหว่างการพัฒนารวม 3,424 เมกะวัตต์
แนวโน้มธุรกิจ: บล.ทิสโก้ ประเมิน BGRIM ว่าการดำเนินงานของบริษัทจะดีขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ แม้เศรษฐกิจอ่อนแอ และการระบาดของ COVID-19 ที่กดดันภาคการผลิต แต่จะได้ปัจจัยบวกจากการกลับมาดำเนินงานของลูกค้า 2 ราย รวมถึงปริมาณสต็อคที่ลดลง และการดำเนินงานของโซลาร์ฟาร์ม จึงแนะนำให้ “ถือ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 46.00 บาท