นายกฯ เผย ครม.เศรษฐกิจออกมาตรการช่วยเหลือผลกระทบโควิด-19 ระยะสั้น ให้เงินประชาชนกระตุ้นท่องเที่ยว ในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยเหลือที่ครอบคลุมทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี รวมถึงมาตรการทางภาษีและการเงินการคลังต่างๆ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) นัดพิเศษ โดยระบุว่า ที่ประชุมพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น หรือชั่วคราวภายในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยเหลือที่ครอบคลุมทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงมาตรการทางภาษีและการเงินการคลังต่างๆ
“วันนี้ต้องแยกแยะว่านี่เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว นอกจากนี้ ยังต้องรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลพิจารณาผลกระทบทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนการให้เงินประชาชนต้องเข้าใจว่าต่างประเทศเขาก็ทำ แต่ไทยไม่ได้ให้มากเหมือนต่างประเทศ การให้เงิน ไม่ใช่แค่ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมกลุ่มอื่นๆ ด้วย จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ จะมากหรือน้อยก็ต้องดูแลกันไม่ใช่ให้เงินเรื่อยเปื่อย เพราะประชาชนมีรายได้น้อย ผู้ประกอบการระดับล่างมีความจำเป็นต้องใช้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการท่องเที่ยว ยืนยันว่ารัฐบาลมีข้อมูลว่านักท่องเที่ยวลดลงจึงต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ และขอให้เข้าใจ อย่ามาโจมตีกันทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นเดินหน้าไม่ได้ ทั้งนี้ การให้เงินประชาชนผู้มีรายได้น้อยกำลังพิจารณาว่าจะทยอยให้หรือให้ครั้งเดียวในจำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดว่าจะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบเท่าใด ซึ่งเบื้องต้นมีหลายล้านคน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจทุกด้าน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้จะยังไม่เลวร้ายถึงขึ้นสูงสุด แต่ผลกระทบในขณะนี้ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวของไทย ไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งภาคการผลิต และบริการ ดังนั้นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชนได้ร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่นที่จะออกมาตรการชุดที่ 1 มาดูแลเศรษฐกิจ ออกแล้วไม่ได้จบเลย แต่จะมีการประเมิน หากมีความจำเป็นก็จะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาต่อเนื่อง
"การใช้เงินจะมีการระวัง ครอบคลุมในทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป มาตรการที่ออกมานี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่จะดำเนินการในช่วง 2 เดือนนี้เท่านั้น" นายสมคิด กล่าว
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการชุดแรกที่ออกมานี้จะช่วยทั้งผู้ประกอบการและประชาชน โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมี 2 ด้าน คือ มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี โดยมาตรการด้านการเงิน จะมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินอื่นๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ ไปปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%
2.การปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ และ 3.การปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และเป็นเอ็นพีแอล โดยจะให้มีการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10%
4.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน
สำหรับมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟต์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้
3.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จ้างงานลูกจ้างต่อโดยไม่ให้ตกงาน ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เม.ย.-31 ก.ค.2563 และมาตราการที่ 4 ให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 15 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และไม่เกิน 45 วันสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก ประกอบด้วย 1.ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนให้แก่ภาคเอกชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ 2.บรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ โดยเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด 3.ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง
4.เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้รวดเร็วขึ้น และ 5.มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยการขยายวงเงินการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) วงเงินพิเศษ จากเดิมอยู่ที่ 2 แสนบาท โดยวงเงินใหม่จะต้องซื้อภายใน มิ.ย.2563 และต้องซื้อกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65%
"จะมีมาตรการดูแลประชาชน โดยจะมีการแจกเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ จำนวน 2 พันบาทต่อราย โดยจะทยอยจ่ายเดือนละ 1 พันบาท เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. และ พ.ค.นี้ ผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยประชาชนที่ได้รับเงินจะได้สามารถกดเงินสดไปใช้จ่าย" นายอุตตม กล่าว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขาคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เติบโตได้ต่ำกว่าปกติในหลายด้าน ทั้งเรื่องการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว การส่งออก โดยปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดส่งผลทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2563 เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์พอสมควร และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 2563
"เศรษฐกิจไทยในวันนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยในไตรมาสแรกมีผลกระทบจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ส่งผลให้การเติบโตออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 ตรงนี้อยากให้ทุกฝ่ายทำใจ เพราะรัฐบาลก็ทำใจแล้วว่าไตรมาส 1/2563 จะไม่ดี แต่หลังจากนี้ หวังว่าไตรมาส 2/2563 จะฟื้นตัวได้ จากการใช้จ่ายของรัฐที่กลับมา ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตอนนี้ขยายความรุนแรงมากขึ้น จากเดิมคาดว่าจะจบใน 3 เดือน และจะใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3 เดือน จากนี้คงต้องมาประเมินใหม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าสถานการณ์จะจบได้ภายใน 6 เดือน และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปลายไตรมาส 3/2563 ถึงต้นไตรมาส 4/2563 ซึ่งปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติให้หายไปแล้วกว่า 50% โดยหากผ่านสถานการณ์ช่วงนี้ไปได้ ค่อยมาพิจารณาถึงมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงต่อไป" นายกอบศักดิ์ กล่าว