ราคาทองคำยังพุ่งต่อ หลังสถานการณ์ลุกลามของไวรัส Covid-19 อีกทั้งเฟดลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน หวังลดผลกระทบเศรษฐกิจ ดันราคาทองพุ่งทันทีและไม่มีท่าทียุติ ผลักดันให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีแรงเก็งกำไรเข้าสนับสนุน ภาพรวมในวงการเชื่อมีลุ้น 27,000 บาท แถมมีหลายปัจจัยพร้อมกดดันให้พลาดเป้า และมีแรงเทขายทำกำไร แนะลงทุนระยะสั้น และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ณ ช่วงเวลานี้ (ปลาย ก.พ.) ราคาทองคำเคลื่อนไหวบริเวณ 24,500 บาทต่อทองคำน้ำหนัก 1 บาท เรียยกได้ว่าหากเข้าสะสมทองคำในวันแรกของปี (1 ม.ค.) ซึ่งทองคำแท่งจะมีราคาอยู่ที่ 21,350 บาท นักลงทุนสามารถขายทำกำไรได้กว่า 3,000 บาท หรือ 14.75%
สาเหตุสำคัญของการปรับเพิ่มขึ้นรอบนี้ หนีไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก จนทำให้นักลงททุนลดการถือครองในสินทรัพย์เสี่ยงหันมาถือเงินสด และทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น กระแสดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนจากกองทุนทองคำ SPDR เข้ามาสะสมทองคำเข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นำไปสู่แรงเก็งกำไรที่ไหลเข้ามาในทองคำจนทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ณ ปัจจุบัน และทำให้เกิดคำถามที่ว่าราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นขนาดนี้จะไปต่อหรือไม่?
ล่าสุด คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ซึ่งเฟดออกแถลงการณ์ ระบุว่า "ท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านี้ และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของเฟดในการรักษาเสถียรภาพของราคา และการจ้างงานเต็มศักยภาพ FOMC จึงตัดสินใจในวันนี้ในการปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น"
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในวันนี้ มีขึ้นก่อนการประชุมตามปกติของเฟด ที่มีกำหนดในวันที่ 17-18 มี.ค.ที่จะถึงนี้ ก่อนหน้านี้ สำนักวิจัยมูดี้ส์ อะนาไลติกส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ หากการแพร่ระบาดลุกลามกระจายกว้างไปทั่วโลก รัฐบาลหลายประเทศเร่งอัดฉีดงบพิเศษเพื่อรับมือการแพร่กระจายของไวรัส และนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
สมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย ประกาศราคาทองครั้งที่ 1 วันที่ 4 มีนาคม 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 600 บาทต่อน้ำหนักบาททอง โดยทองแท่งซื้อที่ 24,350 บาท และขายที่ 24,450 บาท ส่วนทองรูปพรรณ ซื้อเข้าที่ 23,907.32 บาท และขายออกที่ 24,950 บาท โดยอ้างอิงราคาทองตลาดสปอตที่ 1,646.50 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ และอ้างอิงค่าเงินบาทที่ 31.38 บาทต่อดอลลาร์
โดยสัญญาทองคำตลาดล่วงหน้าสหรัฐฯ ปิดตลาดวันอังคาร (3 มี.ค.) ปรับตัวขึ้น หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% ในวันนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สัญญาทองทำตลาดฟิวเจอร์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 3.1% ปิดที่ราคา 1,644.10 ดอลลาร์/ออนซ์
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ถึงแม้เฟดสร้างความประหลาดใจต่อตลาดการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% แต่เฟดยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ขณะเงินบาทเปิดเช้าวันดังกล่าวที่ระดับ 31.38 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.52 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทที่ 31.25-31.45 บาทต่อดอลลาร์
บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ระบุว่า ราคาทองคำ Spot ปรับขึ้นแรงในช่วงกลางคืน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% ก่อนวาระการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค. เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.51 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการเงิน ส่วนกองทุน SPDR ซื้อทองคำ 3.51 ตัน
สำหรับคืนนี้ติดตามการเปิดเผยรายงาน Beige Book เป็นรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟด 12 เขตในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาที่เฟดจะนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค. และการจ้างงานภาคเอกชน ADP ของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ซึ่งตลาดคาดจะเพิ่มขึ้น 170,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น 291,000 ตำแหน่ง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) แสดงคววามเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า ยังคงคำแนะนำให้นักลงทุนถือทองคำต่อ หลังจากในช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำโลกและทองคำไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เพราะได้รับปัจจัยบวกจากการกลับมาอัดฉีดสภาพคล่องของหลายประเทศ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ยังคงยืดเยื้อและเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นแต่มองว่าราคาทองคำในปัจจุบันอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากสถานะเก็งกำไรสะสมของทองคำอยู่ในระดับสูงมาก ชี้ให้เห็นว่าตลาดมีการประเมินความเสี่ยงไว้ในระดับที่สูงมากแล้ว โดยรายงานสถานะการลงทุนของนักเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (CFTC Commitment of Trader Report) ซึ่งสะท้อนมุมมองของนักลงทุนประเภท Hedge Funds พบว่า นักเก็งกำไรเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทองคำ หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคงยืดเยื้อและเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้นักลงทุนกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
ด้าน บล.โกลเบล็ก ให้ความเห็นว่า ประเมินสถานการณ์ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อในกรอบ 1,640-1,690 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หลังจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากนักลงทุนได้หันมาลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Covid-19) และคาดว่าหากการแพร่ระบาดของไวรัสจะลุกลามต่อไปอีก และจะส่งผลให้ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ได้ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในปี 2563 ที่ระดับ 1.46% ซึ่งถือเป็นสัญญาณของการลดความเสี่ยงของนักลงทุนเพิ่มเติม
“การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในขณะนี้เกิดจากความกังวลต่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ได้แพร่ระบาดรอบ 2 ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน ส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัว ซึ่งถือเป็นจังหวะทำกำไรทองคำในระยะสั้นได้”
"จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี" นายกสมาคมค้าทองคำ แสดงความเห็นว่าราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติอย่างมาก ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในตลาดทองคำ สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ที่เริ่มลามไปหลายประเทศ ทำให้หลายคนไม่มั่นใจสถานการณ์จึงพากันซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงมากที่สุด จนส่งผลให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ในไทยเองโรค Covid-19 ยังจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออก และการท่องเที่ยว ส่วนราคาทองคำในอนาคตยากที่จะประเมิน คาดว่าในไทยคงไม่ถึงระดับ 27,000 บาท แต่ตลาดโลกอาจสูงกว่า 1,700 เหรียญดอลลาร์สหรัฐได้ แนะนำนักลงทุนให้ลงทุนระยะสั้นพร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคามีโอกาสเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่ของไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปีว่า ภาพรวมในปีนี้ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้น หลังจากผ่านบริเวณ 1,616 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของราคาทองคำในเดือน มี.ค. ปี 2556 โดยจะมีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากผ่านได้จะมีแนวต้านถัดไปอยู่ในโซน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนระดับสูงสุดของราคาช่วงเดือน ก.พ. ก.ย. และ ต.ค. ปี 2555 และเป็นจุดที่ราคาทดสอบหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถผ่านได้
สำหรับราคาทองคำในประเทศ คาดว่าจะยังคงได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระทบต่อภาคท่องเที่ยงหลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหายไป ซึ่งส่งผลให้ GDP ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะเพิ่มโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมอีกซึ่งจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบของการอ่อนค่าจึงเพิ่มโอกาสที่ราคาทองคำในประเทศจะแตะระดับ 25,500-27,000 บาทต่อบาททองคำภายในปีนี้
"ปีนี้เป็นปีที่ราคาทองคำทะยานขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี โดยราคาทองคำในตลาดโลก หรือ Gold Spot ปรับตัวสูงขึ้น 118 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้น 7.78% จากราคาเปิด 1,517 สู่ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,635ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยทองคำได้รับปัจจัยบวกหลายเรื่องในปีนี้"
บจ.เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ มองราคาทองคำยังคงปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 1,600 เหรียญ โดยที่ราคามีการดีดกลับขึ้นไปเล็กน้อยบริเวณ 1,610 เหรียญ และมีการปรับตัวกลับลงมาใกล้เคียงเดิมบริเวณ 1,592 เหรียญโดยประมาณ ขณะที่ SPDR ขายทองคำออก 3.22 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ระดับ 931.01 ตัน สำหรับปริมาณการซื้อขายค่อนข้างผันผวนตามราคาค่อนข้างมาก และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยองค์รวมน่าจะปรับตัวลงจากผลกระทบจากไวรัสโคโรนา และคาดจะเห็นจีดีพีจีนโตได้ต่ำสุดในรอบ 30 ปีบริเวณ 4.9% สำหรับคืนนี้ไม่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญใดๆ โดยได้วิเคราะห์ราคาทองคำทางเทคนิค เชื่อว่า ราคาทองคำในระยะสั้นดูจะมีความผันผวนค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปีนักวิเคราะห์ทองคำจากหลายสำนักมองราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบ 1,430 ถึง 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือประมาณ 20,500-23,750 บาทต่อบาททอง โดยเชื่อว่าราคาทองคำจะทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 1/2563 ก่อนจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปี 2563 อันเป็นผลจากหลายปัจจัยที่กระทบ คือ ความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่จะยังคงมีอยู่ โดยมองว่า การบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ หรือ Phase One จะส่งผลดีต่อตลาดเพียงชั่วคราว เนื่องจากการเจรจาในระยะถัดไปเป็นประเด็นอ่อนไหว เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนความรู้ทางเทคโนโลยีของจีน ซึ่งจะสำเร็จได้ยาก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของตลาดที่กังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ปลายปีนี้ ซึ่งบางนโยบายของพรรคที่สมัครท้าชิงนั้นมีผลกดดันตลาดหุ้น อีกทั้งความกังวลในเศรษฐกิจถดถอยจะหวนกลับมาอีกครั้ง ตลอดจนธนาคารสำคัญๆ หลายแห่งกลับมาระดมซื้อสินทรัพย์ จนยอดสุทธิการเข้าซื้อสินทรัพย์กลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2561 เพราะปีที่ผ่านมายอดสุทธิการเข้าซื้อสินทรัพย์ (Net Monthly Changes in Central Banks’ Balance Sheets) ของบรรดาธนาคารกลางหลายประเทศได้เพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกับการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนจากทองคำ (%YoY Returns of Gold) ในปี 2563 การเข้าซื้อเฉลี่ย 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนของธนาคารกลาง ไปจนถึงกลางปีเป็นอย่างน้อย น่าจะหนุนให้ราคาทองคำไม่ลดลงมากไปกว่านี้นัก
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดการณ์ว่าผลกระทบจาก สถานการณ์โควิด-19 น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 1-2 ไตรมาส อาจจะตัวเลขจีดีพีชะลอตัว ตัวเลขการท่องเที่ยวชะลอลง การส่งออกก็ชะลอตัว การบริโภคก็จะลดลง แต่เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยระยะสั้น ขณะนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจจีนบ้างแล้ว เชื่อมีทางออกและฟื้นตัวได้ในที่สุด ซึ่งที่ต้องติดตามคือ การฟื้นตัวจะเป็นรูปแบบใด ส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น เป็นตัว V แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ การฟื้นตัวอาจจะไม่เร็วนัก สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันออกแบบให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับมาตรการการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ย แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดการกู้ยืมเพิ่มขึ้น แต่อย่างน้อยก็จะลดภาระทางการเงิน และช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ซึ่งจะมีผลบวกต่อการส่งออกของประเทศในที่สุด ขณะที่มาตรการการคลัง จะเป็นส่วนสำคัญขณะนี้ โดยมองว่าควรเป็นลักษณะการประคองเศรษฐกิจระยะเริ่มต้น ก่อนจะใช้มาตรการกระตุ้นในช่วงต่อไป
“ตัวอย่างของการใช้มาตรการประคองเศรษฐกิจ เช่น 1.โครงการงานแลกเงิน แทนที่จะแจกเงิน เปลี่ยนเป็นการสร้างงานให้คนทั่วประเทศ แล้วมีค่าจ้างให้ จะเกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจและความภาคภูมิใจ 2.คือ การเสริมสภาพคล่อง เพราะหากเอสเอ็มอีขาดเงินทุนอาจจะล้มได้ 3.หนุนการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้ลงไปในระดับชุมชน กระจายไปให้ได้มากที่สุด และ 4.ใช้มาตรการลดภาษีให้แก่บุคคลธรรมดา เพื่อลดค่าใช้จ่าย และมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย” นายอมรเทพ กล่าว
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปี 2563 สามารถหาจังหวะเข้าซื้อใกล้บริเวณแนวรับ 1,545 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 23,100 บาทต่อบาททองคำ และทยอยแบ่งพอร์ตเพื่อขายทำกำไรเป็นระยะ โดยขายทำกำไรบริเวณแนวต้าน 1,700-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 25,500-27,000 บาทต่อบาททองคำ อย่างไรก็ดี หากหลุดแนวรับ 1,545 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ควรตัดขาดทุนบางส่วน แล้วถอยจุดซื้อไปยังแนวรับถัดไปบริเวณ 1,445 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 21,600 บาทต่อบาททองคำ
จากภาพรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในตลาดทองคำของประเทศ พอสรุปได้ว่า ราคาทองคำในช่วงนี้ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อ แต่จะมากน้อยเพียงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การลุกลามของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และยังไม่มีท่าทียุติ จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 27,000 บาทต่อทองคำ 1 บาท และยังมีโอกาสที่ปรับตตัวเพิ่มขึ้นได้มากกว่าคาดการณ์ หากสถานการณ์หลายฝ่ายกังวลยังไม่ท่าทีสงบลง
อย่างไรก็ตาม การที่ราคาทองคำจะไต่ระดับขึ้นถึงราคาดังกล่าวยังมีหลายปัจจัยที่คอยกดดัน เช่น การเทขายทำกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และกองทุนทองคำ รวมถึงการเทขายทำกำไรของนักลงทุนบางส่วนเพื่อทำกำไร รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่อาจกดดันให้ราคาทองคำในประเทศไปไม่ถึง 27,000 บาท