xs
xsm
sm
md
lg

ทิสโก้แนะนักลงทุนถือทองต่อ หลังโควิดยืดเยื้อ-หั่นเป้าส่งออกไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า TISCO ESU ยังคงคำแนะนำให้นักลงทุนถือทองคำต่อ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำโลกและทองคำไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเพราะได้รับปัจจัยบวกจากการกลับมาอัดฉีดสภาพคล่องของหลายประเทศ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ยังคงยืดเยื้อและเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาทองคำในปัจจุบันอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนักเนื่องจากสถานะเก็งกำไรสะสมของทองคำอยู่ในระดับสูงมาก ชี้ให้เห็นว่าตลาดมีการประเมินความเสี่ยงไว้ในระดับที่สูงมากแล้ว โดยรายงานสถานะการลงทุนของนักเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (CFTC Commitment of Trader Report) ซึ่งสะท้อนมุมมองของนักลงทุนประเภท Hedge Funds เป็นรายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่านักเก็งกำไรเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทองคำ หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคงยืดเยื้อและเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้นักลงทุนกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

นักเก็งกำไรเข้าซื้อสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าของตลาด CBOE มากกว่า 45,000 สัญญาในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 8 เดือน ส่งผลให้ในขณะนี้สถานะเก็งกำไรในทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 353,600 สัญญา ซึ่งนับเป็นระดับการเก็งกำไรในทองคำที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

นายคมศรกล่าวว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาทองคำนั้นส่งผลดีต่อตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมาเติบโตที่ระดับ 3.4% สูงกว่าที่ตลาดคาด และเป็นการกลับมาเติบโตครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ซึ่งส่วนหนึ่งจากฐานต่ำเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนตัวเลขและมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการส่งออกทองคำ แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำจะพบว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2563 ยังคงหดตัวประมาณ 1.5% และทั้งปีนี้ TISCO ESU คาดการณ์ว่าการส่งออกไทยจะติดลบที่ระดับ 1.6%

“TISCO ESU ได้ปรับลดประมาณการส่งออกในปีนี้ลงเป็นติดลบ 1.6% จากต้นปีที่ประเมินว่าจะติดลบ 0.5% โดยอิงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่คุกคามต่อกิจกรรมของเศรษฐกิจโลกที่กระทบทั้งห่วงโซ่การผลิตและอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง ในขณะเดียวกันก็ยังมีหลายปัจจัยสำคัญที่ยังยากจะคาดเดา เช่น วันที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ เป็นต้น” นายคมศรกล่าว

นอกจากนี้ ผลกระทบเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของกิจกรรมการผลิต การขนส่ง และการเดินทางยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยจะเริ่มเห็นผลกระทบอย่างแท้จริงผ่านทางตัวเลขเศรษฐกิจได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป นอกจากนี้ หากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 2/2563 ก็มีโอกาสที่ TISCO ESU จะปรับประมาณการจีดีพีลงอีกได้ จากปัจจุุบันประเมินว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับ 1.7%
กำลังโหลดความคิดเห็น