xs
xsm
sm
md
lg

โละทิ้งเกณฑ์รับหุ้นเน่า / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึง 6 มีนาคม 2563 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหรือพับบลิกเฮียริ่ง การปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียนหลายด้าน โดยหนึ่งในสิ่งที่ปรับปรุงคือ การยกเลิกใช้เกณฑ์มาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ในการยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้ผลประกอบการบริษัทยังไม่มีผลกำไร

เกณฑ์มาร์เกตแคป เป็นผลพวงจากนโยบายการรับบริษัทจดทะเบียนใหม่ในเชิงปริมาณ โดยมุ่งรับหุ้นใหม่จำนวนมากๆ และพยายามผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณารับหุ้นใหม่ เพื่อทำให้ตลาดหุ้นพองโตอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าหลักทรัพย์ตลาดรวมที่สูงขึ้น

หลักเกณฑ์ปกติ บริษัทที่จะยื่นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท มีผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี ช่วง 2-3 ปี มีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และปีล่าสุดมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีผลประกอบการย้อนหลัง 2 ปี และปีล่าสุดมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

แต่เกณฑ์มาร์เกตแคป เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เกตแคปสูงกว่า 5,000 ล้านบาท สามารถยื่นขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันที โดยไม่ต้องมีผลประกอบการย้อนหลัง ไม่ต้องรอให้มีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานเสียก่อน

ต่อมา ได้ปรับคุณสมบัติบริษัทจดทะเบียนใหม่ จากเดิมมีมาร์เกตแคปไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็นมาร์เกตแคปไม่ต่ำกว่า 7,500 ล้านบาท โดยบริษัท เอสโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR เป็นบริษัทจดทะเบียนใหม่รายสุดที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคป

บริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคป ไม่แตกต่างจากบริษัทสตาร์ทอัปที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะไม่มีผลประกอบการย้อนหลังให้นักลงทุนพิจารณา ไม่มีผลกำไรเพื่อแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีความสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนการลงทุน

นักลงทุนที่จะซื้อหุ้นที่เข้ามาด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคป จะต้องคาดเดาถึงผลแนวโน้มผลประกอบการเอาเอง ภายใต้ความคาดหวังว่า บริษัทจะสามารถสร้างผลกำไรได้ แต่ปรากฏว่า บางบริษัทสร้างผลงานที่น่าผิดหวัง โดยก่อนเข้ามาจดทะเบียน ผลประกอบการขาดทุน และแม้เข้าตลาดหุ้นหลายปี ผลประกอบการยังขาดทุนต่อเนื่อง

สร้างความเสียหายให้นักลงทุนอย่างหนัก เช่น หุ้นบริษัท เพซ ดิเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE

PACE เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2556 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนครั้งแรกในราคา 3.50 บาท ล่าสุด ราคาเคลื่อนไหวแถว 6 สตางค์ และอยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน มีนักลงทุนรายย่อยติดค้างอยู่ประมาณ 5,100 ราย

ส่วน SHR เพิ่งเข้าจดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 หลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนราคา 5.20 บาท ล่าสุดราคาเคลื่อนไหวต่ำกว่า 2 บาท นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นไว้ขาดทุนกันเละ และไม่อาจคาดหมายว่า แนวโน้มผลประกอบการจะเป็นอย่างไร

การเปิดทางให้บริษัททั่วไปเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นได้โดยง่าย เพียงเพื่อสร้างภาพตลาดหุ้นให้ดูเหมือนว่า เติบโตได้รวดเร็วนั้น โดยนำหายนะของนักลงทุนไปวางเป็นเดิมพัน

เสียงเรียกร้องให้ทบทวนหลักเกณฑ์มาร์เกตแคป ดังมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ เพิ่งได้รับการตอบรับ

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์พยายามปรับปรุงกฎระเบียบหลายด้าน เพื่อพัฒนาคุณภาพบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลบริษัทจดทะเบียนให้ครอบคลุม เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น โดยข่าวบริษัทจดทะเบียนบนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ เดิมดูข้อมูลย้อนหลังได้เพียง 6 เดือน ปรับให้สามารถค้นหาดูย้อนหลังได้ 5 ปี

และสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนใหม่ จะมีข้อมูลค่า พี/อี เรโช พร้อมตารางเปรียบเทียบค่า พี/อี เรโช หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้นักลงทุนพิจารณาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจลงทุน

ถ้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตระหนักถึงการปกป้องประโยชน์ของนักลงทุน คำนึงถึงความเสียหายของนักลงทุนอย่างจริงจัง จะต้องพิจารณากลั่นกรองรับบริษัทจดทะเบียนใหม่อย่างเข้มงวด และกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่เดิมอย่างรัดกุม

ไม่ปล่อยให้หุ้นเน่าหลุดเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่แรก และไม่ยอมให้หุ้นเน่าที่หลุดรอดเข้ามาได้ สร้างความเสียหายใดๆ ให้นักลงทุน

แต่ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองนักลงทุนน้อยไป หุ้นเน่าๆ นับสิบนับร้อยบริษัทจึงถูกปล่อยให้เข้ามาปล้นตลาดหุ้น และมีนักลงทุนนับแสนๆ คนต้องตกเป็นเหยื่อสังเวยหุ้นเน่าๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น