ฐิติกรเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ ล่าสุดได้รับใบอนุญาตเปิดเพิ่มอีก 6 สาขาในกัมพูชา และเปิดให้บริการ นับเป็นการขยายสาขาและพื้นที่ให้บริการ และขยายตลาดแบบเติบโต 100% รับกับศักยภาพตลาดรถจักรยานยนต์ในกัมพูชาที่มีขนาดมากกว่าปีละ 500,000 คัน ตั้งเป้าเดินหน้าขยายธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมาย
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เผยว่า หนึ่งใน
กลยุทธ์สำคัญของ TK ในการดำเนินธุรกิจคือการเร่งเพิ่มรายได้จากการเพิ่มสัดส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศ ผ่านการดำเนินธุรกิจของบริษัทลูก ซึ่งปัจจุบันบริษัทลูก 3 บริษัทใน 3 ประเทศ คือ บริษัท ซัวสะได ไฟแนนซ์ จำกัด ในกัมพูชา บริษัท สบายดี ลีสซิ่ง จำกัด ใน สปป.ลาว และ บริษัท มิงกะละบา ฐิติกร ไมโครไฟแนนซ์ จำกัด ในพม่า ล่าสุดบริษัทลูกในกัมพูชาได้รับใบอนุญาตเปิดสาขาเพิ่มอีก 6 สาขา ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนจาก 6 เป็น 12 สาขาในกัมพูชา
“การได้รับใบอนุญาตขยายสาขาในกัมพูชาดังกล่าวทำให้เราสร้างความเติบโตของเครือข่ายการให้บริการเช่าซื้อกับลูกค้าในกัมพูชา แบบเติบโต 100% โดยเราได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่และทีมงานกว่า 50 คนไว้ล่วงหน้า ดังนั้น ทันทีที่รับใบอนุญาต เราจึงสามารถให้บริการเช่าซื้อให้ลูกค้าได้ทันทีที่สาขาใหม่ใน Kampong Thom, Kampot, Banteay Meanchey, Takao, Kampong Chanang และ Pursat เพิ่มเติมจากสาขาเดิมที่มีอยู่แล้วใน Phnom Penh, Battambang, Siem Reap, Kampong Cham, Svayrieng และ Kampong Speu
ทั้งนี้ TK ยังคงเดินหน้าบริหารธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ ด้วยการขยายสาขาในประเทศที่ดำเนินกิจการอยู่ และการขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศใหม่ๆ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง” นางสาวปฐมากล่าว
ทางด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของ TK ซึ่งดำเนินธุรกิจในนาม บริษัท ซัวสะได ไฟแนนซ์ จำกัด ในกัมพูชา ถือว่ามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปี 2562 มีอัตราเติบโตของสินเชื่อ 23.5% และอัตราเติบโตของรายได้ 114.1% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 โดยธุรกิจในกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วน 14.0% ของธุรกิจต่างประเทศของ TK ทั้งหมด ปีนี้คาดว่าอัตราเติบโตประมาณ 15.1% ในกัมพูชา ในด้านประชากรนับเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจของ TK กล่าวคือ อายุเฉลี่ยของประชากรในกัมพูชายังมีอายุน้อย ประกอบกับการเพิ่มของจำนวนประชากรยังคงมีอัตราสูง รายได้เฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และลูกหนี้คุณภาพดี
“ตลาดรถจักรยานยนต์ในกัมพูชามีขนาดมากกว่าปีละ 500,000 คัน และยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะระบบรถสาธารณะยังไม่ครอบคลุม ในขณะที่เมืองต่างๆ มีความเจริญเติบโตเร็ว ดังนั้น การใช้รถจักรยานยนต์จึงเป็นพาหนะที่ราคาถูกที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวคาดว่าไม่ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากเรามีการเพิ่มพื้นที่ให้บริการอีก 6 สาขา รวมเป็น 12 สาขา ใน 12 จังหวัด ส่วนผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงนั้นไม่น่ามีผลมาก เพราะการท่องเที่ยวไม่ใช่รายได้หลักของกัมพูชา” นายประพลกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินกิจการภายใต้ธรรมาภิบาล และการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในอนาคต ควบคู่กับการบริหารธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของ TK ด้วยการขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศใหม่ๆ เช่น การเริ่มเข้าไปดำเนินธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในพม่า เมื่อเร็วๆ นี้ และการขยายสาขาในประเทศที่ TK ดำเนินกิจการอยู่ ทั้งนี้ กำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มในพม่าอีก 2 สาขา และใน สปป.ลาวอีก 3 สาขา ตั้งเป้ามีสาขาในต่างประเทศรวม 21 สาขา ภายในปี 2563 นี้