PPS ปรับกลยุทธ์ จับมือพันธมิตรเพิ่มขีดความสามารถพัฒนาธุรกิจให้หลากหลาย พร้อมขยายขอบเขตการรับงานธุรกิจเดิมในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรสุทธิที่ 10% ขณะที่ผลประกอบการปี 62 รายได้รวม 466.75 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7.44 ล้านบาท
นายพงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PPS เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ PPS เดินหน้าปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร และการปรับแผนธุรกิจของบริษัทย่อย ขยายขอบเขตการรับงาน ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการแข่งขันในอุตสาหกรรมก่อสร้างค่อนข้างรุนแรง
ล่าสุดจัดตั้งบริษัท โปรเจคท์ ทู พร็อพเพอตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (P2) ร่วมกับ Mr. Peter Hamilton พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อซื้อที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการแหลมยามูเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอโอนที่ดินเพื่อเข้าลงทุนในเฟสแรก เป็นโครงการที่พักอาศัยจำนวน 8 ยูนิต คาดว่าจะทยอยลงทุนระยะเวลา 3-4 ปี คาดว่าจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 100-200 ล้านบาท
ขณะที่ บริษัท พีพีเอส อินโนเวชั่น จำกัด หรือ PPSI บริษัทย่อย ได้ขยายขอบเขตการรับงาน โดยเพิ่มงานบริการด้านซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานผ่านนวัตกรรมให้แก่กลุ่มบริษัท อีกทั้งรองรับขอบเขตการดำเนินธุรกิจในด้าน IT และสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมในธุรกิจกลุ่มนี้ด้วย
ด้าน PPS และ PPS Oneworks เตรียมความพร้อมเพื่อยื่นเสนองานภาครัฐที่จะออกมาตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการที่ทยอยลงทุนหลายงาน และบริษัทหวังจะได้รับส่วนแบ่งจากงานกลุ่มนี้เพิ่มเติม
จากแผนการดำเนินงานในปีนี้ รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม บริษัทเชื่อว่าจะส่งผลให้มีรายได้ และมีอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้น และสามารถกำหนดรายได้ของตัวเองได้แน่นอนขึ้น โดยตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ไว้ไม่ต่ำกว่า 450 ล้านบาท พร้อมรักษาอัตรากำไรสุทธิ 10%
สำหรับผลประกอบการปี 62 บริษัทมีรายได้รวม 466.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 387.09 ล้านบาท จำนวน 79.66 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.58% และมีกำไรสุทธิ 7.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.42 ล้านบาท จำนวน 0.02 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.27%
ทั้งนี้ กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายได้จากการบริการที่สูงขึ้น เนื่องจาก บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนจากการบริการเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนพนักงานและค่าตอบแทนพนักงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการบันทึกผลประโยชน์พนักงานตามอัตราคิดลดใหม่ ขณะเดียวกัน บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากจำนวนพนักงานและค่าตอบแทนพนักงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าศึกษาข้อมูลโครงการของบริษัทย่อยแห่งหนึ่ง และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาภาพลักษณ์องค์กรและการจัดงานประชาสัมพันธ์องค์กร
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทพิจารณาเสนอให้งดจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้น เนื่องจากบริษัทมีผลกำไรไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ และวางแผนจะนำมาใช้รองรับการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต