xs
xsm
sm
md
lg

หมดน้ำยา "กรีนชู" CRC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (20 กุมภาพันธ์ 2563) หุ้นบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ถูกกระหน่ำขายมาตลอด จน ราคาทรุดต่ำกว่าราคาที่เสนอขายนักลงทุนทั่วไป แม้มีกลไก "กรีนชูออปชั่น" หรือการซื้อคืนหุ้นส่วนเกินที่นำมาจัดสรรขายนักลงทุนก็ตาม


กรีนชูออปชั่น ถูกตั้งคำถามดัง ๆ ว่า เป็นกลไกพยุงราคาหุ้นจริงหรือ เพราะมีหลายกรณีที่ราคาหุ้นใหม่ต่ำกว่าจอง ทั้งที่อยู่ระหว่างช่วง “กรีนชู” ก็ตาม


นักลงทุนทั่วไป ถูกทำให้เข้าใจว่า หุ้นที่มีกรีนชู ฯ ราคาจะไม่ต่ำกว่าจอง ในช่วง 30 วันปฏิทิน นับจากหุ้นเข้าซื้อขาย เพราะ หากราคาหุ้นหลุดจอง กลไกกรีนชูจะทำงานทันที โดยเข้ามารับซื้อหุ้น เพื่อพยุงราคาไว้


แต่ทำไมหุ้นใหม่จึงต่ำกว่าจอง ทั้งที่เข้ามาซื้อขายเพียงวันแรก จึงเกิดการตั้งข้อสงสัยในกรีนชู


CRC นำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปจำนวน 1,691 ล้านหุ้น เสนอขายในราคาหุ้นละ 42 บาท และจัดสรรหุ้นส่วนเกินหรือกรีนชูออปชั่นอีกจำนวน 169.1 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร และบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ร่วมเป็นผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหรืออันเดอร์ไรเตอร์


กรีนชูออปชั่น ซึ่งนำมาใช้เป็นกลไก เพื่อรักษาระดับราคาหุ้น มีกำหนด 30 วัน นับจากวันที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ตามปฏิทิน แต่ไม่มีการระบุชัดเจนว่า บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้บริหาร "กรีนชู" ภายใน 30 วัน ถ้าหุ้น CRC ไม่หลุดจองหรือไม่ต่ำกว่า 42 บาท เมื่อครบ 30 วัน บริษัทอันเดอร์ไรเตอร์ที่บริหารกรีนชู จะนำเงินที่สนอขายหุ้นส่วนเกิน ซื้อหุ้นเพิ่มทุน CRC จำนวน 169.1 ล้านหุ้น คืนให้ผู้ที่ยืมหุ้นมาขายส่วนเกิน หรือคืนให้กลุ่ม “จิราธิวัฒน์”


แต่ถ้าหุ้น CRC ต่ำกว่าจอง กลไกกรีนชู ฯ จะทำงาน โดยทยอยเข้าไปซื้อหุ้นคืน และซื้อคืนจนครบจำนวน 169.1 ล้านหุ้น ก่อนที่จะส่งมอบคืนให้กลุ่ม "จิราธิวัฒน์" หลังพ้นช่วงกรีนชูฯ

และเงินส่วนต่างจากราคาหุ้น CRC ที่ซื้อต่ำกว่าราคาจอง ไม่รู้ว่า ระหว่าง อันเดอร์ไรเตอร์ที่บริหารกรีนชูฯ กับกลุ่มจิราธิวัฒน์มีข้อตกลงกันอย่างไร เงินส่วนต่างจากราคาหุ้นจะตกเป็นของอันเดอร์ไรเตอร์หรือแบ่งกับกลุ่มจิราธิวัฒน์


ไม่มีใครรู้เงื่อนไขรายละเอียดกลไกกรีนชูออปชั่นหุ้นใหม่แต่ละกรณี รวมทั้งกรณีกรีนชู CRC


เพราะตามความเข้าใจของนักลงทุนทั่วไปคิดว่า กลไกกรีนชู ฯ จะทำงานทันที เมื่อหุ้นใหม่ต่ำกว่าราคาจอง โดยกรณีหุ้น CRC กรีนชูฯ ควรจะตั้งรับซื้อที่ราคา 42 บาท และหากราคายังลงมาที่ 42 บาทอยู่ กรีนชูจะต้องซื้อคืนจนครบ 169.1 ล้านหุ้น


แต่หุ้น CRC เข้ามาซื้อขายเกือบ 2 สัปดาห์เต็มแล้ว ไม่มีข่าวแม้แต่น้อยว่า กรีนชูฯ เริ่มทำงานหรือยัง เข้ามาซื้อหุ้นคืนในระดับราคาใด และซื้อคืนจนครบจำนวน 169.1 ล้านหุ้นแล้วหรือไม่

การนำกลไกกรีนชูฯ มาใช้ ควรจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมกับนักลงทุน โดยเมื่อนำหุ้นส่วนเกินมาเสนอขายราคาใด ควรซื้อคืน ในราคาที่เสนอขาย


CRC เสนอขายหุ้นละ 42 บาท เมื่อซื้อคืนควรซื้อในราคา 42 บาท ไม่ใช่ซื้อคืนในราคา 40 บาท 35 บาทหรือราคาใดที่ต่ำกว่า 42 บาท และนำส่วนต่างราคาไปเป็นผลประโยชน์แบ่งปันกัน ซึ่งเป็นการเอาเปรียบประชาชนที่จองซื้อหุ้น


และ ควรเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงในการใช้กลไกกรีนชู ฯ ระหว่างบริษัทจดทะเบียนใหม่กับบริษัทอันเดอร์ไรเตอร์ รวมทั้งเปิดเผยการดำเนินการตามกลไกกรีนชูฯ ในช่วง 30 วันที่มีผลบังคับใช้ แจ้งข้อมูลเป็นระยะว่า ได้มีการซื้อหุ้นคืนแล้วหรือไม่ ซื้อคืนในจำนวนเท่าไหร่ ราคาระดับใด เพื่อให้นักลงทุนรู้ความคืบหน้าและใช้เป็นข้อมูลการตัดสินใจลงทุน


แต่เกือบ 2 สัปดาห์ผ่านมา ไม่มีข่าว “กรีนชู” หุ้น CRC แต่อย่างใด ไม่มีใครรู้ว่า ซื้อคืนหุ้นไปครบจำนวน 169.1 ล้านหุ้นหรือยังและเข้ามาซื้อในราคาเท่าใด


และเมื่อหมดช่วงกรีนชูฯ แล้ว คงจะอุบข่าวเงียบ ไม่มีการแถลงใด ๆ ให้นักลงทุนทราบว่า เงินส่วนต่างจากทำกรีนชู หรือเงินที่กินจากนักลงทุน โดยซื้อหุ้นคืนราคาถูกกว่าราคาที่เสนอขายในครั้งแรกนั้น ถูกนำไปแบ่งปันให้ใครบ้าง


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรทบทวนกลไกกรีนชูออปชั่น โดยกำหนดบทบาทให้ชัดว่า ต้องซื้อหุ้นคืนเมื่อราคาหุ้นหลุดจองทันที และต้องเปิดเผยข้อมูลการซื้อหุ้นคืนในทุกครั้ง


ไม่ใช่สักแต่ว่ามีกรีนชู แต่ไม่มีใครรู้ว่า กรีนชูทำอะไรบ้าง เช่นกรณีหุ้น CRC ราคาหุ้นหลุดจองมาตั้งวันแรก แต่ไม่มีใครรู้ว่า อันเดอร์ไรเตอร์ทำหน้าที่รักษาระดับราคาหุ้นหรือไม่


หรือรอให้ราคาหุ้น CRC รูดลงมาลึก เพื่อ ซื้อหุ้นต้นทุนต่ำ ๆ และนำส่วนต่างราคาหุ้นไปแบ่งปันกัน บนความเสียหายของนักลงทุนที่จองซื้อหุ้น CRC






กำลังโหลดความคิดเห็น