MTS Gold ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลเปิดตัว “MTS Gold Blockchain” ใช้เทคโนโลยี Blockchain ผสานกับการออมทองคำรายแรกในไทย ตอกย้ำความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยผ่านธุรกรรมออนไลน์ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 150 บาท ตั้งเป้ายอดเปิดบัญชีมากกว่า 10,000 บัญชีภายในปีนี้ พร้อมทั้งหาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดอนุพันธ์ต่างประเทศ ควบคู่การใช้ AI เพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพการลงทุน
นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ MTS Gold แม่ทองสุก เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ยุคดิจิทัลทำให้บริษัทต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่มีความหลากหลาย ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือความน่าเชื่อถือและความปลอดภัย MTS Gold จึงพัฒนาระบบต่างๆ และนำเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาพัฒนาและปรับใช้ เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
บริษัทได้เปิดตัว “MTS Gold Blockchain ”ระบบสะสมเงินซื้อทองคำแท่งที่ความบริสุทธิ์ 96.5% ในรูปแบบออนไลน์ เป็นรายแรกที่นำระบบ Blockchain มาใช้ในการออม และการจัดเก็บข้อมูลโดยไม่ผ่านบุคคลที่สามเพื่อป้องกันความเสียหายด้านข้อมูล ทองคำ และการทำธุรกรรมซึ่งเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงเทียบเท่ามาตรฐานธนาคารชั้นนำแห่งประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 150 บาท หรือเริ่มต้นได้ด้วยน้ำหนัก 0.1 กรัม ได้ตลอดทั้งวันไม่จำกัดจำนวนครั้ง และสามารถโอนมอบทองคำในระบบให้สมาชิกท่านอื่นๆ ที่อยู่ในระบบเดียวกันได้ เมื่อสะสมครบตามจำนวนที่ต้องการสามารถแลกรับเป็นทองคำในรูปแบบทองคำแท่งจริงได้ตั้งแต่ขั้นต่ำ 1 กรัม ในทุกสาขาของห้างทองแม่ทองสุก คาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนไทยหันมาออมทองคำกันมากขึ้น
“ปัจจุบันราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้น ทำให้ลูกค้ารายย่อยที่ต้องการซื้อทองทำได้ยากขึ้น “MTS Gold Blockchain” จึงน่าจะเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือรายย่อย ให้สามารถเข้าถึงการลงทุนด้วยการออมทองได้ง่ายขึ้น ด้วยวงเงินเริ่มต้นเพียง 150 บาทเท่านั้น ซึ่งการนำนวัตกรรม Blockchain มาประยุกต์กับการออมทองคำในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของอุตสาหกรรมทองไทยที่ลงทุนได้อย่างปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยภายในปีนี้เราตั้งเป้าจะมียอดเปิดบัญชีออมทองกว่า 10,000 บัญชี” นายณัฐพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 2563 บริษัทยังคงร่วมมือกับพันธมิตรในตลาดอนุพันธ์ต่างประเทศเพื่อเพิ่มสินค้าและบริการให้มีความหลากหลายและครบครันมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาวิเคราะห์และประมวลผลสัญญาการซื้อขายสินค้าในตลาดอนุพันธ์ต่างๆ รวมไปถึงนำเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น BIG DATA มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการลงทุนให้แก่นักลงทุนไทย และเปิดโอกาสการเข้าถึงสินค้าในตลาดโลกได้อย่างหลากหลาย
“ปัจจุบัน MTS Gold มีการซื้อขายสินค้าต่างๆ กับตลาดขนาดใหญ่ในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง, สิงคโปร์, เซี่ยงไฮ้ โดยมีสัญญาซื้อขายสินค้าประเภท ทองคำ น้ำมัน น้ำตาล และในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายไปยังตลาดโลหะลอนดอน (London Metal Exchange) ซึ่งมีความโดดเด่นในสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทโลหะ เพื่อเพิ่มตลาดการลงทุนให้มีความหลากหลาย อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับ CME Group ตลาดอนุพันธ์ชั้นนำรายใหญ่ในการจัดงาน MTS Global Expo 2020 อันเป็นโครงการสำคัญที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเสริมทักษะกลุ่มนักลงทุนไทยด้วยวิทยากรชั้นนำจากต่างประเทศ”
นายณัฐพงศ์กล่าวถึงแนวโน้มราคาทองคำในปีนี้ว่า ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการทำนิวไฮในรอบ 7 ปีแล้วก็ตาม โดยมีกรอบแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 1,700 เหรียญ ซึ่งถือเป็นระดับเป้าหมายสำคัญต่อไปของทองคำ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผัวผวน ประกอบกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดโคโรนา COVID-19 ที่ยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และมีแนวโน้มแพร่ระบาดในระดับรุนแรงขึ้น ขณะที่ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนประเภทอื่น และจะเห็นได้ว่าตลอดปี 2563 ราคาทองคำต่างประเทศปรับขึ้นมาแล้วกว่า 10% ขณะที่ทองคำไทยก็ปรับขึ้นมาได้แล้วกว่า 19.37% และทำให้ราคาทองคำไทยมีโอกาสยืนเหนือ 25,000 บาท/บาททองคำได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับเงินบาทที่ยังคงปรับอ่อนค่าในเวลานี้
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ London Metal Exchange
London Metal Exchange หรือ LME คือตลาดซื้อขายโลหะล่วงหน้าซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1877 ในปัจจุบันตลาด LME ถือเป็นตลาดซื้อขายโลหะนอกกลุ่มเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก และราคาซื้อขายในกลุ่มโลหะนอกกลุ่มเหล็กของตลาด LME ถูกใช้เป็นราคาอ้างอิงในการซื้อขายทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยโลหะนอกกลุ่มเหล็กที่สำคัญที่มีการซื้อขายใน LME ได้แก่ อะลูมิเนียม (Aluminium), อะลูมิเนียมอัลลอย ( Aluminium Alloy), ทองแดง (Copper), สังกะสี (Zinc), นิกเกิล (Nickel), ตะกั่ว (Lead), ดีบุก (Tin), ทอง (Gold), เงิน (Silver) และโคบอลต์ (Cobalt) อ้างอิงข้อมูล : https://www.lme.com/