xs
xsm
sm
md
lg

ชิงขายหุ้นตัดขาดทุน / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะหมี หรืออยู่ในช่วงขาลงเต็มตัว ลงอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เพียงประมาณ 1 เดือน ดัชนีหุ้นทรุดลงกว่า 200 จุด โดยเมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 4 ปี ที่ระดับ 1,366.41 จุด แต่อาจยังไม่ใช่จุดต่ำสุดในรอบนี้

ทิศทางหุ้นระยะสั้นยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะสถานการณ์รอบด้านเลวร้าย โดยการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิค-19 ยังเป็นปัจจัยทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุน

หุ้นที่ดิ่งลงหลุดระดับ 1,400 จุด เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทุกสำนัก ซึ่งก่อนหน้าประเมินว่า ดัชนีหุ้นไม่น่าจะหลุดจากระดับ 1,450 จุด

แต่วันพุธที่ผ่านมาเพียงวันเดียว ดัชนีหุ้นทรุดลงถึง 72.69 จุด หรือลดลง 5.05% สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการเทขายหุ้นในลักษณะหนีตาย

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางคนเริ่มแนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อหุ้น โดยเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีอัตราเงินปันผลสูง เพราะมองว่า หุ้นลงมาลึกเกินไป ซึมซับรับข่าวร้ายหมดแล้ว และปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของตลาดหุ้นแข็งแกร่งขึ้น ค่า พี/อี เรโช เฉลี่ยประมาณ 16 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ประมาณ 3.61%

นักลงทุนที่พร้อมจะถือยาว จึงเริ่มควรหาจังหวะช้อนหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีเก็บ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดหุ้นยังอยู่ในช่วงขาลง ขณะที่ผลกระทบจากเชื้อไวรัสยังลุกลามในวงกว้าง และไม่อาจคาดหมายว่า สถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด

หุ้นจึงมีโอกาสปรับฐานลงต่อ และไม่สามารถคาดหมายจุดต่ำสุดได้

ราคาหุ้นที่ปรับตัวลง อาจทำให้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนมีความน่าสนใจขึ้น เพราะค่า พี/อี เรโช ต่ำลง อัตราเงินปันผลตอบแทนหรือยิลด์สูงขึ้น แต่อย่าลืมว่า ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งหมายถึง ค่าพี/อี เรโช ในอนาคตจะสูงขึ้น และความสามารถในการจ่ายปันผลลดลง

ยิ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยืดเยื้อ ยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การลงทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนรุนแรงขึ้น

ดังนั้น อย่ามองโลกในแง่ดี อย่าคิดแต่เพียง หุ้นลงมาลึกมากแล้ว แต่ต้องพิจารณาว่าหุ้นมีโอกาสดิ่งลงต่อหรือไม่ ดัชนีหุ้นระดับ 1,366 จุด เป็นจุดต่ำสุดหรือใกล้จุดต่ำสุดในรอบนี้จริงหรือไม่

ถ้าไม่มั่นใจว่าหุ้นถึงจุดต่ำสุดแล้ว หรือเชื่อว่า หุ้นมีสิทธิที่จะดิ่งลงต่อ คงต้องตัดสินใจลดความเสี่ยง โดยขายหุ้นออกไปก่อน กลับมาถือเงินสด และรอคอยจังหวะกลับมาช้อนซื้อ เมื่อมั่นใจว่าหุ้นปรับตัวในระดับต่ำสุดจริงๆ

การชิงขายหุ้นในช่วงขาลง นอกจากเป็นการปรับพอร์ตเพื่อตัดขาดทุน ลดความสูญเสียแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสช้อนซื้อหุ้นในราคาที่ถูกจริงๆ อีกด้วย

แต่นักลงทุนรายย่อยมักทำใจตัดขาดทุนไม่ได้ จึงมีหุ้นขาดทุนเก็บสะสมไว้เต็มพอร์ต

หุ้นราคาแพงๆ ค่า พี/อี เรโช สูงลิบ ยิลด์ต่ำๆ แต่กลับเป็นหุ้นยอดนิยม เพราะนักลงทุนซื้ออนาคต โดยคาดหวังว่าผลประกอบจะเติบโตต่อเนื่อง

แต่ในยามตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลงเต็มตัว ทฤษฎีการลงทุนต้องปรับเปลี่ยน โดยนักลงทุนต้องชิงขายตัดขาดทุน เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เพราะผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มถดถอย ราคาหุ้นมีโอกาสปักหัวลงต่อ

รอบนี้นักลงทุนรายย่อยเจ็บหนัก พอร์ตเละ ขาดทุนยับเยิน เพราะเข้าไปช้อนหุ้นสวนทางปืน ฝืนกระแส “ขาลง” แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะปรับทัศนคติการลงทุนใหม่

ถามตัวเองว่า หุ้นมีแนวโน้มจะลงต่อหรือไม่ ถ้าเชื่อว่าหุ้นยังลงต่อ ทำไมไม่รีบชิงตัดขายขาดทุน






กำลังโหลดความคิดเห็น