xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.กำไรปี 62 โต 40% ผลจากการเข้าซื้อกิจการ-ปันผลหุ้นละ 6 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.เผยปี 62 กำไรสุทธิเพิ่ม 40% หรือ 1,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) เหตุปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มจากการเข้าซื้อกิจการและลงทุนเพิ่มในแหล่งบงกช ส่งผลให้อัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อการผลิต (R/P ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ปี ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายปีนี้อีก 11%

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมปี 2562 ที่ 6,413ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 198,822 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 5,459 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 176,687 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ไตรมาสแรกปีนี้คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น และคาดว่าทั้งปีจะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ 70-75% ของรายได้จากการขาย

โดยเป็นผลจากปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโครงการบงกช และการเข้าซื้อกิจการของบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในมาเลเซีย และบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. ซึ่งส่งผลให้ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับ 305,522 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2561 ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 46.66 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2561 มาอยู่ที่ 47.24 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

ดังนั้น จึงส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,569 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 48,803 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2561 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,120 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 36,206 ล้านบาท) และ ปตท.สผ. มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2562 รวม 3,540 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 102,878 ล้านบาท) และมีระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) ที่ 71%

นายพงศธรกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์การขยายธุรกิจ ซึ่งมีทั้งการเข้าซื้อกิจการและการชนะการประมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการขายปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.เพิ่มขึ้นเป็น 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันนั้น นับเป็นปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยสูงสุดจากที่มีการผลิตมาของ ปตท.สผ. ซึ่งแผนกลยุทธ์ดังกล่าวยังมีผลให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว (P1) ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 677ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เป็น 1,140 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งส่งผลให้ R/P ratio เพิ่มขึ้นจาก 5 ปี เป็น 7.5 ปีอีกด้วย

“นอกจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรายังสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้ตามเป้าหมายด้วย โดยจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหากมีการสำรวจพบและพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองในพื้นที่สำรวจต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ไปพร้อมๆ กับเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาว ส่วนปี 2563 นี้ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายขึ้นอีก 11%” นายพงศธรกล่าว

จากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผล สำหรับปี 2562 ที่ 6 บาทต่อหุ้น ซึ่งงวด 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 2.25 บาทต่อหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 3.75 บาทต่อหุ้นจะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 และจะจ่ายในวันที่ 10 เมษายน 2563 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563

สำหรับปี 2563 PTTEP มีแผนในการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกลยุทธ์ด้าน Execution เพื่อรักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลัก ดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับโครงการที่ได้มา ทั้งโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) โครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ในอ่าวไทย, โครงการใหม่ในมาเลเซีย และโครงการภายใต้บริษัท Partex รวมทั้งผลักดันโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการปัจจุบัน และผลักดันการพัฒนาโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น