xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยชี้มีหลายปัจจัยฉุดเศรษฐกิจปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หอการค้าไทย ชี้มีหลายปัจจัยฉุดเศรษฐกิจปี 63 ไวรัสโคโรนาหนักสุด จีดีพีหดร้อยละ 1.3 เงินหาย 226,700 ล้านบาท แต่ยังคงประมาณการร้อยละ 2.8 เนื่องจากหลายปัจจัยยังไม่นิ่ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยประเมินผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563 ใน 5 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ความต้องการสินค้าลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงร้อยละ 1.3 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 226,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทางหอการค้าไทยยังคงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 2.8 เนื่องจากเห็นว่ามีหลายปัจจัยยังคงไม่แน่นอนและมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่โอกาสเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2.5 มีโอกาสมากขึ้น โดยปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีผลกับจีดีพีประเทศมากที่สุด โดยประเมินว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนมีนาคม การท่องเที่ยวฟื้นตัวภายใน 3 เดือนหลังจากนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปจะทำให้จีดีพีลดลงร้อยละ 0.67 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 117,300 ล้านบาท แต่หากเหตุการณ์ยืดเยื้อเกินเดือนพฤษภาคมผลกระทบต่อจีดีพีจะมีสูงขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าเกินกว่า 6 เดือน โดยเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนเมษายน จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีลดลงร้อยละ 0.44 ส่งผลกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ 77,500 ล้านบาท ภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลา 1 เดือน และปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ต่ำกว่าปีก่อน ส่งผลต่อจีดีพีร้อยละ 0.06 มีผลกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,200 ล้านบาท ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีผลกับจีดีพีร้อยละ 0.02 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 3,800 ล้านบาท ดังนั้น หอการค้าไทยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล คือ การที่รัฐบาลต้องทำตลาดเชิงรุกตลาดที่มีศักยภาพออกมาตรการฟรีวีซ่าระยะสั้น และมีการเพิ่มประเทศมากขึ้น เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณที่กันจากปีก่อนให้เร็วขึ้น รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนในส่วนของรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การบริหารจัดการค่าเงินบาทให้อ่อนค่าใกล้เคียงกับระดับ 31.5-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น