xs
xsm
sm
md
lg

“รองฯ สมคิด” ขอแบงก์เร่งอัดฉีดเงินกู้เอสเอ็มอี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รองฯ สมคิด” กำชับแบงก์เร่งปล่อยสินเชื่อเพิ่มให้ผู้ประกอบการเอ็มอีหลังรัฐบาลขยายสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เพิ่มจาก 30% เป็น 40% และมอบหมาย “คลัง” พิจารณาหากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ด้าน “คปภ.” เตรียมหารือขยายการลงทุนแบงก์กว้างขวางทั้งในและนอกประเทศให้ผู้ประกอบธุรกิจประกันในสัปดาห์หน้า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลัง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าด้านนโยบายที่เคยมอบหมายไว้ตั้งแต่ปลายปี 62 โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของธนาคารพาณิชย์ โดยได้เร่งให้ดำเนินการโดยเร็ว แต่หากจะมีมาตรการเพิ่มเติมใดที่มีความจำเป็นได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณา

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมยังมีการหารือกับสมาคมธนาคารไทยถึงการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีหลังรัฐบาลได้ออกชุดมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) จาก 30% เป็น 40% เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งตนได้กำชับให้สถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนเร่งดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เม็ดเงินลงไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้รายงานต่อที่ประชุมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในเรื่องการกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ทั้งในส่วนสัญญาที่ 1 และ 2 รวมถึงการลดวงเงินการตั้งสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น โดย ธปท. ยังรายงานด้วยว่า จะจัดให้มีการแถลงข่าวในเรื่องดังกล่าวนี้ ซึ่งตนได้กำชับให้ ธปท. แถลงข่าวให้ชัดเจน

ขณะเดียวกัน คปภ. ยังรายงานต่อที่ประชุมถึงการประชุมของคณะกรรมการ คปภ. ในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือถึงแผนขยายการลงทุนที่กว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีขนาดในการทำธุรกิจที่ใหญ่ถึง 4 ล้านล้านบาท ดังนั้น การขยายการลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศจึงถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และยังจะช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินบาทได้อีกทางหนึ่งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น