สศช.ชี้แจงข้อเท็จจริงหนี้ครัวเรือน แม้จะอยู่ในระดับสูง แต่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง เป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะโฆษกสำนักงานฯ เปิดเผยว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เดือนธันวาคม 2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 78.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน อาจทำให้ประชาชนเกิดความกังวล
ทั้งนี้ สศช.ได้มีการนำเสนอสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเป็นส่วนหนึ่งของรายงานภาวะสังคม ซึ่งเผยแพร่เป็นประจำทุกไตรมาส โดยหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงจากร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี พบว่า มีแนวโน้มทรงตัว จากสัดส่วนสูงสุดในปี 2558 ร้อยละ 80.8 ลดลงเป็นร้อยละ 79.3 และ 78.05 ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ และมาอยู่ที่ร้อยละ 78.7 ในไตรมาส 2 ปี 2562
สำหรับวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรและเพื่อดำเนินธุรกิจ จากรายงานนโยบายการเงินเดือนธันวาคม 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ไตรมาส 2 ปี 2562 ร้อยละ 58.8 ของหนี้สินครัวเรือนไทยทั้งหมดเป็นการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ยานยนต์ และเพื่อประกอบธุรกิจ โดยมีสัดส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยร้อยละ 24.4 สินเชื่อยานยนต์ร้อยละ 17.1 และสินเชื่อเพื่อธุรกิจร้อยละ 17.0 ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนร้อยละ 41.5 ของสินเชื่อครัวเรือนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สินเชื่อบางประเภทจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินมาตรการสำคัญ เช่น กำกับดูแลให้เกิดการเป็นหนี้อย่างเหมาะสมทั้งด้านผู้ก่อหนี้และผู้ปล่อยกู้ ช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อน เป็นต้น