xs
xsm
sm
md
lg

บล.เอเซียพลัสแนะ 7 หุ้นเด่นเดือน ม.ค.-ตั้งเป้ากำไร บจ.ปีนี้ 1 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เอเซียพลัสแนะนำกลยุทธ์ลงทุนเดือน ม.ค. เน้น 7 หุ้นโตโดดเด่น BGRIM, PTT, LH, AP, ROBINS, CPF และ WHA ส่วนภาพรวมปี 63 คาดการณ์บริษัทจดทะเบียนกำไร 1 ล้านล้านบาท พร้อมกำหนดกรอบเคลื่อนไหว SET Index แบบอนุรักษ์นิยม 1,579 จุด เป็นกรอบล่าง และมี 1,675 จุด เป็นกรอบบน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด หรือ (ASPS) รายงานกลยุทธ์ลงทุนเดือนมกราคม 2563 โดยเน้นลงทุนเป็นรายบริษัทที่มีการเติบโตโดดเด่นจากปัจจัยบวกเฉพาะตัว ได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH, บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP, บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA

ทั้งนี้ พอร์ตจำลองที่บริหารโดยทีมวิจัย ASPS ยังคงทำผลตอบแทนได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงถึง 10.6%(ytd) ขณะที่ SET Index ทรงตัวให้ผลตอบแทน 0.9% โดยมี Alpha หรือผลตอบแทนที่มากกว่าตลาดเกือบ 10% แสดงให้เห็นถึงในยามที่ตลาดผันผวน การบริหารพอร์ตทำได้ดีทั้งในจังหวะที่ตลาดเป็นขาขึ้นและปรับฐาน ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงสม่ำเสมอ และเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

หุ้นที่ทำผลตอบแทนโดดเด่นสุด 5 ลำดับแรกจากพอร์ตจำลองที่บริหารโดยทีมวิจัย ASPS คือ บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MCS, บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO, บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR, WHA และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC

ปี 2563 ยังเผชิญหลายบททดสอบ

นอกจากนี้ บล.เอเซียพลัสประเมินแนวโน้ม Fund Flow ในปี 2563 ว่ายังมีโอกาสชะลอลงจากหลากหลายปัจจัย ทั้งในมุมเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าที่คาด จากประเด็นสงครามทางการค้า แม้ล่าสุดสหรัฐฯ จะมีท่าทีพักรบกับจีน แต่มีโอกาสขึ้นภาษีกับประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ยุโรป เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับยุโรป ซึ่งเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองภายในประเทศ อีกทั้งเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ถ้านำเงินเข้ามาลงทุนในช่วงนี้ก็อาจทำให้ต้องประสบภาวะการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Loss)

ประเด็นสำคัญในปี 63 ยังเป็นปีแรกที่ขาดเม็ดเงินจากกองทุน LTF เข้ามาช่วยหนุน ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อตลาดหุ้น ซึ่งหากพิจารณา Fund Flow ในอดีตย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2557-2562) แม้ต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 6 แสนล้านบาท (ปรับตามมูลค่าตลาด) แต่สถาบันฯ มีบทบาทสำคัญ และเป็นผู้พยุงตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อสุทธิ 5 แสนล้านบาท ช่วยหนุนให้ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 21.5%

แต่ในปี 2563 แรงขับเคลื่อนตลาดจากสถาบันฯ หายไปพอสมควร (กองทุน LTF มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินจากกองทุนทั้งหมดในประเทศที่หมุนเวียนอยุ่ในตลาดหุ้น) นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงิน LTF คงค้างที่ซื้อในช่วงปี 2547-2558 พร้อมขายได้อยู่อีกกว่า 1.8 แสนล้านบาท ส่งผลให้ SET Index ในปี 2563 มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อย่างจำกัด

สำหรับปี 2562 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงขายจากต่างชาติติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยปีนี้ถูกขายสุทธิอีกราว 4.4 หมื่นล้านบาท (ytd) หรือ 1.35 พันล้านเหรียญ (ytd) และเป็นการขายสุทธิมากสุดในภูมิภาค สวนทางตลาดหุ้นหลายๆ ประเทศยังเป็นการซื้อสุทธิเกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้ ต่างชาติยังขายตราสารหนี้ไทยอีก 8.4 หมื่นล้านบาท (ytd) รวม Fund Flow ไหลออกจากหุ้นและตราสารหนี้ 1.28 แสนล้านบาท (ytd)

กรอบดัชนีตลาดหุ้น 1,579-1,675 จุด

ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นในปี 2563 ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ 1.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) 95.71 บาท เติบโต (EPS Growth) 3.9% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าเติบโตได้ดีกว่าตลาด ส่วนใหญ่เกิดจากฐานกำไรสุทธิปี 2562 ที่ต่ำกว่าปกติ เช่น กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพลังงาน และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

พร้อมทั้งกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index ปี 2563 แบบอนุรักษนิยมไว้ในช่วง 16.5-17.5 เท่า เมื่อคูณกับ EPS’63 ที่ 95.71 บาท/หุ้น จะให้กรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index โดยมีบริเวณ 1,579 จุด เป็นกรอบล่าง และมี 1,675 จุด เป็นกรอบบน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามี Upside เปิดกว้างสุดจากราคาดัชนีปัจจุบันราว 6.8%


กำลังโหลดความคิดเห็น