ในปี 2562 ที่ได้ผ่านพ้นไปนั้น ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อนข้างเติบโตในอัตราที่ลดลง ซึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในขณะนี้ คือ ภาครัฐและหน่วยงานของรัฐในการเป็น "แกนหลัก" ของเครื่องยนต์ในการผลักดันให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีระดับของการเติบโตที่ดีได้ ขณะที่ภาคธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มีอัตราการลงทุนที่ลดลง เงินบาทที่แข็งค่ามีผลต่อการส่งออก และผลกระทบถึงการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคอสังหาฯ ถือเป็นภาคธุรกิจที่อิงกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปี 62 มีปัจจัยลบหลายด้านมาลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ ทั้งในเรื่องของมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เศรษฐกิจของประเทศจีน ที่ชะลอตัวหนัก โดยเฉพาะผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เงินหยวนอ่อนค่า ทำให้กำลังซื้อในส่วนของโควตาลูกค้าต่างชาติที่มาลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียม ลดฮวบหายไปกว่า 50% โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศจีน ที่เป็นกำลังซื้อหลักของตลาดคอนโดฯ ที่ลดหายไปเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด กรมที่ดิน ได้เผยแพร่ข้อมูลเปรียบเทียบเกี่ยวกับปริมาณงานและรายได้จากการจดทะเบียนของสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ระหว่างปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61-ก.ย.62) กับปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-ก.ย.61) โดยพบว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีปริมาณงาน 13,295,931 ราย ปรับลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561 ที่มีปริมาณ 13,402,700 ราย ขณะที่ในด้านการจัดเก็บรายได้มีตัวเลขที่ปรับขึ้น 0.24% โดยสามารถมีรายได้กว่า 108,658 แสนล้านบาท เป็นบวกเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561 จัดเก็บได้กว่า 108,400 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ซึ่งเริ่มบังคับใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งผลให้กำลังซื้อกับภาคอสังหาริมทรัพย์สะดุดลง เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อควบคุมนักเก็งกำไร และแก้ปัญหาเรื่องเงินทอน ทำให้ช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง กล่าวคือ ตัวเลขปริมาณงานลดลงทั้ง 3 เดือนดังกล่าว และตัวเลขรายได้ปรับลดลงค่อนข้างรุนแรงไม่ต่ำกว่า 12%
ขณะที่มาตรการของรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เหลืออย่างละ 0.01% ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึง 24 ธันวาคม 2563 (ซึ่งเริ่มอยู่ในช่วงปีงบประมาณ 2563 และ 2564) นั้น คาดว่าจะส่งผลต่อปริมาณธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเลขรายได้ไม่น่าจะปรับลดลงมาก เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์จะมีการกระตุ้นเกี่ยวกับการโอนโครงการที่อยู่อาศัย และหากมาตรการลดค่าโอนเมื่อใกล้จะสิ้นสุดในวันที่ 24 ธ.ค.63 หากไม่มีการต่อมาตรการก็ทำให้เชื่อว่า ประชาชนและภาคธุรกิจอสังหาฯ จะเกิดการเร่งทำธุรกรรมหรือการโอนโครงการกันอย่างหนาแน่น เพื่อให้รับกับมาตรการดังกล่าว
สำหรับตัวเลขล่าสุดของเดือน ต.ค.62 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 7,731,828,843 บาท ลดลงกว่า 1,130 ล้านบาท หรือลดลง 12.76%
ทั้งนี้ หากรวม 5 ภาค งานประเภทที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจะมีรายการสูงสุด รวมมีงานเสร็จ 69,206 ราย รองลงมาเป็นอาคารชุด 11,073 ราย รวมรายได้ทั้งสิ้น 5,924 ล้านบาท และหากแยกเป็นภาค จะพบว่า ภาคกลาง (เฉพาะการขายและขายฝาก) จะมีจำนวนรายการสูงสุด และมีการจัดเก็บรายได้สูงสุดเกือบ 4,000 ล้านบาท ขณะที่ภาคตะวันออก จะมีการจัดเก็บรายได้รองลงมาอยู่ที่ 676.25 ล้านบาท เป็นต้น
ซึ่งเมื่อลงไปในรายจังหวัด ภาคกลาง กรุงเทพฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บทั้งสิ้น 2,344.48 ล้านบาท รองลงมาจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ อยู่ที่ 364.37 ล้านบาท
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ มากที่สุด รวมรายได้ทั้งสิ้น 191.27 ล้านบาท
ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี มีตัวเลขรวมรายได้สูงสุด 410 ล้านบาท และเมื่อรวม 3 จังหวัด ที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) จะมีการจัดเก็บรายได้รวมกว่า 591 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบ 90% ของจัดเก็บรายได้ทั้งภาคตะวันออกที่ 676.25 ล้านบาท
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ตัวเลข 95.7 ล้านบาท จังหวัดขอนแก่น 67.7 ล้านบาท
และภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต 151.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวและมีการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งประเภทคอนโดมิเนียม วิลลาหรู เพื่อรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก